เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบโรค กล่าวว่าวันสงกรานต์มีความสำคัญ คือ เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ทำบุญสร้างกุศลและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นวันครอบครัวรวมญาติและวันผู้สูงอายุ อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทยแสดงความกตัญญูกตเวทีระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ช่วงสงกรานต์ แต่ละปีจะเป็นระยะ 7 วันอันตราย ( วันที่ 11-17 เมษายน ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศจำนวนมาก ในปี 2556 มีอุบัติเหตุมากถึง 2,828 ครั้ง บาดเจ็บนอนพักรักษาเป็นผู้ป่วยใน 3,030 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตรวม 321 ราย โดยจะมีจำนวนเจ็บและตายมากในช่วงท้ายของ 3 วันอันตราย
ข้อมูลเดิม สาเหตุหลักของอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ การขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 65 , รองลงมาคือ คนหรือรถตัดหน้าระยะกระชั้นชิด ร้อยละ 13 และเมาสุราหรือยาบ้าร้อยละ 7 ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตุว่าประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ ร้อยละ 32 รองลงมาเป็นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 27 และรถยนต์นั่งร้อยละ 25 , ลักษณะบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ มากที่สุดคือ ทางตรงร้อยละ 66 รองลงมาเป็นทางโค้งร้อยละ 14 และทางแยกร้อยละ 8
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร ส่วนคนไทยผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2 ล้านคน เฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ
รู้ก่อน..งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เหล้าปั่น สุราพื้นเมือง ก่อนขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมที่ขับขี่อยู่เสมอ รวมทั้งใส่เสื้อผ้าที่มีสีสว่างสดใสเพราะจะช่วยให้คนขับรถข้างเคียงเห็นได้ชัด และพกใบอนุญาตขับขี่รถจักยานยนต์ไปด้วยทุกครั้ง
รู้ทัน..ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั้มหรือร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนร้านค้าที่มีได้รับใบอนุญาตสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะเวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น.เท่านั้น แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ ในส่วนประชาชนทั่วไปห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสวนสาธารณะของทางราชการ สถานที่ราชการ วัด สถานศึกษา
หากต้องขับขี่ยานพาหนะให้ชลอความเร็วให้ช้าลงในถนนทางตรง ถนนใน อบต. หมู่บ้าน หรือแหล่งชุมชน ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเวลาฝนตกหรือมีหมอกลงจัด หรือมีคนหรือสัตว์อยู่ในถนนหรือวิ่งตัดหน้า ระมัดระวังเป็นพิเศษช่วงเวลาบ่ายถึงค่ำ ทางแยกหรือออกจากซอย หลีกเลี่ยงการขับขี่ในระยะกระชั้นชิดกับยานพานะอื่น ๆ ดูกระจกส่องหลังและให้สัญญาณไฟทุกครั้งเมื่อต้องการเปลี่ยนช่องทางเดินรถ
ป้องกันได้..สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับรถจักรยานยนต์ แต่งการด้วยเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ให้รัดกุม เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังถลอกหรือเป็นแผลได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง และต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอเมื่อขับรถยนต์
" ดื่ม เมา ง่วงหลับในอย่าฝืน สดชื่นแล้วค่อยเดินทางต่อ เที่ยว สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์ ฉลองสงกรานต์ปลอดภัย เจ็บและตายเป็นศูนย์ “
เพลงรณรงค์งดดื่มสุรา ที่
VDO Clip รณรงค์งดดื่มสุรา ที่ http://www.youtube.com/watch?v=lYUaIs1R6FM
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า โรคอาหารเป็นพิษ กลุ่มอายุที่พบการป่วยมากลำดับแรก คืออายุช่วง 15 – 24 ปี อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและนักเรียน
ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม ของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิที่ร้อนมาก นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือกลับภูมิลำเนาของตนเอง และมีงานเลี้ยงฉลอง มีการรับประทานอาหารรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก สิ่งที่พบบ่อยๆ ตามมา คือ การเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่เตรียมไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก
โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการรับประทานอาหาร ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทาน ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้
ดังนั้นขอกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบอาหาร ผู้เดินทางท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ตามสถานที่ๆ เป็นแหล่งรวมของผู้คนเดินทางกลับบ้าน หรือเดินทางท่องเที่ยว เช่น สถานีขนส่ง ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ได้ตระหนักในการเตรียมอาหาร และเลือกรับประทานให้ปลอดภัย โดยมีคำแนะนำที่สำคัญสำหรับกลุ่มเสี่ยงดังนี้
1) ผู้ประกอบอาหาร ที่จำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยว ปั๊มน้ำมัน สถานีขนส่ง หรือผู้ประกอบอาหารในงานเทศกาล งานฉลอง งานบุญ ฯลฯ ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี แต่งกายและล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังประกอบอาหารทุกครั้ง ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานานก่อนนำไปบริการให้ผู้บริโภค อาหารประเภทยำ ลาบ ต้องปรุงให้สุกและไม่ควรประกอบอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้อาหารบูด เสียได้ง่าย
2) ผู้เดินทางท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป เมื่อแวะรับประทานอาหารระหว่างการเดินทาง ให้เลือกร้านที่แน่ใจว่าสะอาด หรือหรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย เลือกรับประทานน้ำดื่มหรือน้ำแข็งที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสำนักงานอาหารและยา (อย.) ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวย้ำเตือนว่า ขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังตนเอง ลูกหลาน และครอบครัว ช่วงหน้าร้อนนี้ ในผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวเป็นเนื้อปนน้ำไม่จำเป็นรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อทันที แต่หากมีอาการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือมีถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส จะช่วยป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ แต่หากถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ต้องรีบไปตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียงทันที และขอให้
“ เที่ยว ฉลองอย่างปลอดภัย ใส่ใจอาหาร สุก ร้อน สะอาด ปราศจากจากโรคอาหารเป็นเพิษ และอุจจาระร่วง ”
VDO Clip รณรงค์ไข้หวัดใหญ่ ที่ http://www.youtube.com/watch?v=gk7N496D4NI
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยในการเป็นวิทยากรให้ความรู้ ทางสถานีโทรทัศน์ NBT พิษณุโลก และที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เตือนประชาชนให้ระวังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2557 ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยพุ่งสูงกว่า 23,899 ราย เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 24 ราย ถือสูงมากเมื่อเทียบกับรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
เชื่อไข้หวัดใหญ่ทีเป็นสาเหตุของการป่วยในปีนี้ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดตามฤดูกาลก่อนหน้านี้ คือ สายพันธุ์ A H1N1 จากการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าผู้ป่วยถึง ร้อยละ 44 ป่วยจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 ส่วนอีกร้อยละ 38 เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B และอีกร้อยละ 18 เป็นสายพันธุ์ A H3N2 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบทั้งการกลายพันธุ์และการดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้ง 3 สายพันธุ์ที่ว่านี้
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการกลายพันธุ์หรือดื้อยา แต่ผลการศึกษาจากสหรัฐและยุโรปพบว่าเชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงสูงกว่าสายพันธุ์เก่าอื่นๆ โดยมีอัตราป่วยตาย และอัตราเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ
สัญญาณเตือนการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 เมื่อศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐ หรือ ซีดีซี ออกมาแสดงความห่วงใยต่อจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอยู่ในขั้นรุนแรง โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ต่างจาก เอเชียตะวันออก แอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันตก ที่พบว่า สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ H1N1
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนยังคงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบได้มากที่สุดในการระบาดของโรคนี้ ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อกันได้ง่าย เชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ติดต่อกันได้โดยการสัมผัส หรือ การไอ จาม และการปนเปื้อนของเชื้อในภาชนะ ของใช้ส่วนตัว หรือของใช้สาธารณะ เช่น ลูกบิด ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได ราวรถโดยสาร โดยอาจติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางมือที่เปื้อนเชื้อเมื่อแคะจมูก ขยี้ตา เอานิ้วเข้าปาก
การป้องกันโรค ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิว และสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตลอดเวลา หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ หรือจาม งดการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่สังเกตได้ คือ มีไข้สูง เกิน 2 วัน หรือ ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมาก ซึ่งถ้ามีไข้สูงเกิน 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ หรือหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที เพราะส่วนใหญ่แล้วอาการของโรค จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง เมื่อครบวงจรการติดเชื้อของไวรัส
ส่วนการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคนั้น ควรฉีดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า วัคซีนสามารถป้องกัน รวมถึงบรรเทาอาการป่วยได้เพียงร้อยละ 62 เท่านั้น และผู้ที่ป่วยแล้วอาจกลับมาป่วยได้อีก หากเป็นการติดเชื้อคนละสายพันธุ์ นายแพทย์โอภาสกล่าว
" ล้างมือ ปิดปาก จมูกเมื่อไอ จาม ฉีดวัคซีนเร็วไว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ “
ข่าวที่เกี่ยวข้อง " สคร.9 แนะกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ โรคเรื้อรัง คนอ้วน เด็กเล็ก คนชรา เข้ม 5 พฤติกรรมป้องกันโรค " ที่https://www.facebook.com/media/set/?set=a.608032319285671.1073742119.162933320462242&type=1
VDO Clip รณรงค์ไข้หวัดใหญ่ ที่https://www.youtube.com/watch?v=j2c820yO68k
เพลงรณรงค์ไข้หวัดใหญ่ https://soundcloud.com/prdpc9/p3ykk5h3ksrh
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ในแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 7-9 แสนราย ในจำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับไว้โรงพยาบาลเกือบ 76,000 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 16 มีนาคม 2557 ทั่วประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 18,290 ราย ในเขต 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง พบรายงานป่วย 1,465 ราย
ผู้ที่เสี่ยงป่วยรุนแรง ได้แก่หญิงมีครรภ์ เสี่ยงป่วยรุนแรงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ ไต เบาหวาน โรคเลือด มะเร็ง เอดส์ ฯลฯ ผู้พิการทางสมอง คนอ้วนมาก (น้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป) เด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้ง่าย โดยเชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อมีการไอ จามรดกัน การหายใจสูดลมหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยถูกผู้ป่วยไอจามรด ในระยะ 1 ช่วงแขน การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือมือสัมผัสเชื้อไวรัสแล้วนำมาขยี้ตา จับต้องจมูก ปาก การจับต้องสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย เช่น โทรศัพท์ แป้นคอมพิวเตอร์ ผ้าเช็ดมือ ลูกบิดประตู แล้วใช้มือมาแคะจมูก ขยี้ตา จับปาก
เชื้อโรคจะไปเจริญอยู่ในลำคอและเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงป่วย 3 วันแรก (มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากสุด และอาจแพร่ได้นานถึง 7 วัน) ส่งผลให้ หลังได้รับเชื้อ 2-3 วัน (มักไม่เกิน 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เป็นเวลา 3 - 4 วัน ปวดศีรษะมาก หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย บางคนอาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย
หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล คือ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง, ไข้สูง ไม่ลดลงภายใน 2 วัน , ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย , ซึม อ่อนเพลียมาก เด็กร้องไห้งอแงมาก, กินอาหารไม่ได้ หรือกินน้อยมาก , อาเจียน ท้องร่วงมาก มีภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ริมฝีปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะน้อย , ปลายมือปลายเท้ามีสีม่วงคล้ำ
ประชาชนควรมีพฤติกรรมสุขอนามัย โดยการออกกำลังกาย การรับประทานเนื้อ ไข่ นม ผัก ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ซึ่งอุดมด้วยวิตามินซี การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และการใช้ช้อนกลาง และ 5 พฤติกรรมป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่แนะนำ คือ
- ปิด..ปิดปากจมูกเมื่อป่วย ไอจาม ใช้กระดาษทิชชู สวมหน้ากากอนามัย หรือไอใส่ต้นแขนตนเอง
- ล้าง..ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนรับประทานอาหาร หลังไอจาม สั่งน้ำมูก ดูแลผู้ป่วย ขับถ่าย จับต้องสัตว์ และล้างเช็ดทำความสะอาดสิ่งของ พื้นผิว ที่มีคนสัมผัสมาก
- เลี่ยง..เลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม เลี่ยงสถานที่คนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก (โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดมาก)
- หยุด..หยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมกับผู้อื่น เมื่อป่วย เพื่อให้หายป่วยเร็ว และไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
- ฉีด..ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำว่า ถ้าอาการป่วยไม่รุนแรง คือ ไข้ไม่สูง ไม่อ่อนเพลียมาก พอรับประทานอาหารได้ และนอนหลับพักผ่อนได้ ควรดูแลรักษาตนเองที่บ้าน คือ รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซทามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ เช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว เช็ดบริเวณหน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนขา และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกไว้ เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัวและห่มผ้าให้อบอุ่นทันที ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียงทำจิตใจให้สบาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และอากาศถ่ายเทสะดวก อาการจะค่อย ๆ ทุเลา และหายป่วยภายใน 5 ถึง 7 วัน ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนัก เพราะอาการอาจทรุดลงได้
" ล้างมือ ปิดปาก จมูกเมื่อไอ จาม ฉีดวัคซีนเร็วไว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ “
VDO Clip รณรงค์ไข้หวัดใหญ่ ที่https://www.youtube.com/watch?v=j2c820yO68k
เพลงรณรงค์ไข้หวัดใหญ่ https://soundcloud.com/prdpc9/p3ykk5h3ksrh
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า วัณโรค เป็นโรคติดต่อ ที่พบมานานประมาณ 132 ปีผ่านมาแล้ว องค์การสหประชาชาติ มีความเป็นห่วงและตระหนักถึงปัญหาวัณโรค ที่มีต่อมนุษยชาติ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ในปี 2554 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 8.4 ล้านคน และตายจากวัณโรคปีละ 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการตายจากโรคติดเชื้อ
สำหรับประเทศไทย องค์การสหประชาชาติ ได้แสดงความชื่นชมยินดีกับแผนงานวัณโรค ของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการบูรณาการการควบคุมวัณโรคและเอดส์ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาวัณโรคของประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 22 ประเทศของโลก ที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง
ข้อมูลสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ในปี 2554 ที่ผ่านมา ตรวจพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทที่ขึ้นทะเบียนรักษา 65,800 ราย มีอัตราความสำเร็จในการรักษาร้อยละ 87 เสียชีวิตร้อยละ 7 และขาดการรักษาร้อยละ 3 นอกจากจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่าปัญหาแนวโน้มวัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคดื้อยารุนแรง ที่กำลังได้รับการค้นหาและตรวจพบมากขึ้น ซึ่งประมาณการณ์ว่าประเทศไทย น่าจะมีผู้ป่วยประเภทนี้ประมาณ 2,000 ราย ที่กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องรับภาระรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ธรรมชาติของวัณโรค เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจและติดต่อจากคนสู่คน กลุ่มประชากรที่อยู่ในพื้นที่แออัด มีโอกาสสัมผัสและแพร่กระจายโรคได้สูงกว่าปกติ เช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำ (มีอัตราป่วยด้วยวัณโรคสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 10 เท่า) กลุ่มผู้ขับขี่ยานยนต์สาธารณะ และในประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้วยโอกาส เป็นต้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสรับและแพร่กระจายเชื้อวัณโรคได้สูง และการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากกว่าคนทั่วไป ในปี 2555 คาดประมาณว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในประเทศไทย 80,000 ราย (อัตราป่วย 118 ต่อแสนประชากร) พบว่ากลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอัตราป่วย มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 4 -5 เท่า
การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยง และด้อยโอกาสดังกล่าว จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งการลดการแพร่กระจายเชื้อโรค เนื่องจากหากสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา และได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่ จะทำให้เกิดผลสำเร็จในการักษา และลดปัญหาการดื้อยาวัณโรค การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกโดยการใช้รถเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบดิจิตอล และการคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสในกลุ่มเป้าหมาย เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่จะช่วยค้นหา และคัดกรองผู้ที่มี่อาการสงสัยวัณโรคให้ได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นการตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อและลดอัตราการเสียชีวิตจากการป่วยด้วยวัณโรค
กรมควบคุมโรค ได้จัดทำโครงการ “ เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตา เพื่อค้นหาและราชพระรักษาวัณโรค ” โดยการค้นหาและตรวจคัดกรองในประชากรกลุ่มเสี่ยง และด้วยโอกาส เพื่อน้อมรำลึกในพระหากรุณาธิคุณ และถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสพระชนม์ยุครบ 86 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สำหรับในปี 2557 ได้กำหนดประเด็นสื่อสารและคำขวัญในการรณรงค์ คือ “ วัณโรค ค้นให้พบ จบด้วยหาย ”
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ภาคส่วนต่างๆ ควรให้ความสำคัญต่อปัญหาวัณโรคให้มากขึ้น โดยการเร่งรัดการค้นหาผู้ที่มีอาการเข้าได้กับวัณโรค และการรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หายขาด มุ่งหวังให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ประเมินต้นเอง และสามารถคัดกรองวัณโรคเบื้องต้นได้ ตลอดจนประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรควัณโรค ลดการรังเกียจตีตรา และผู้ที่ป่วยวัณโรคสามารถกินยาและรักษาต่อเนื่องจนครบและหายขาดจากวัณโรคซึ่งเป็นการตัดวงจรการแพร่กระบาดของวัณโรคที่ดีที่สุด
" วัณโรค ค้นให้พบ จบด้วยหาย ไม่แพร่กระจาย “
VDO Clip รณรงค์วัณโรค ที่ https://www.youtube.com/watch?v=doZWq8YQJdk
ข่าวที่เกี่ยวข้อง " สคร.9 พร้อมแล้วห้องปฏิบัติการตรวจอณูชีววิทยาวัณโรคด้วยเทคนิคล้ำไฮเทค " ที่https://www.facebook.com/media/set/?set=a.539242759497961.1073742027.162933320462242&type=1
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า จากการทำแบบสำรวจ (โพล) ในกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ กับหน่วยงานที่ผ่านมา พบการปฏิบัติตัวของกลุ่มตัวอย่าง นักเรียน นักศึกษา ช่วงอายุ 16-25 ปี เคยมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยา โดยไม่สวมถุงยางอนามัยถึงร้อยละ 36.2 มีทัศนคติว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนหรือแฟนจะปลอดภัยจากโรค ร้อยละ 13.7 ผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 39.3 เห็นว่าเมื่อมีความรักแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องแต่งงาน และที่น่ากังวลคือมีเยาวชนมากถึงร้อยละ 72.4 มีความคิดเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัย กับ การไม่ใช้ถุงยางอนามัย ให้ความรู้สึกทางเพศที่แตกต่างกัน เพราะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ
จากผลโพลดังกล่าว พบว่าค่านิยมและความคิดของเยาวชนดังกล่าว อาจจะส่งผลให้มีเพศสัมพันธ์กับคนรักโดยขาดทักษะที่ถูกต้องในการป้องกันตนเอง อาจทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคต่างๆ ที่ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งโดยการมีเพศสัมพันธ์ บางรายอาจติดต่อกันโดยการสัมผัส หรือถ่ายทอดสู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ โรคนี้แบ่งตามลักษณะอาการ คือ 1) แผล ได้แก่ ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริมอวัยวะเพศ 2) ฝี ได้แก่ กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง 3) หนอง ได้แก่ หนองใน หนองในเทียม 4) อื่นๆ ได้แก่ หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก พยาธิช่องคลอด เชื้อราช่องคลอด โลน หิด
โรคกลุ่มนี้จะมีอาการคล้ายคลึงกัน แต่มีสาเหตุจากเชื้อแต่ละชนิด อาการที่น่าสงสัย คือ ตกขาวผิดปกติ หรือมีสีเหลือง กลิ่นเหม็น เจ็บเสียวท้องน้อย มีผื่น ตุ่ม แผลอวัยวะเพศ ขาหนีบบวมหรือเป็นฝี โรคนี้ไม่สามารถหายเองได้ ต้องใช้รักษาที่แตกต่างกัน และสามารถถ่ายทอดสู่ลูกในท้องได้ เมื่อคลอดออกมาเด็กจะพิการ เช่น ตาบอด เพดานโหว่ เป็นต้น
สิ่งที่ต้องคำนึงเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็คือ
1. การไม่เปลี่ยนคู่นอน ให้มีสามีหรือภรรยาเดียว
2. ใส่ถุงยางอนามัย
3. อย่ามีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย เพราะจากสถิติหากมีเพศสัมพันธ์อายุน้อยมีโอกาสติดโรคสูง
4. ให้ตรวจประจำปีเพื่อหาเชื้อโรคแม้ว่าจะไม่มีอาการ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการแต่งงานใหม่
5. เรียนรู้อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
6. อย่าร่วมเพศขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย
7. อย่ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย
8. อย่าสวนล้างช่องคลอดเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์มากยิ่งขึ้น การซื้อยากินเองนั้นไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด เพราะอาจช่วยให้อาการของโรคดังกล่าวหายไประยะหนึ่ง แต่ไม่หายขาด ต่อมาภายหลังจะแสดงอาการออกมารุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งประสิทธิภาพของยา ไม่ขึ้นอยู่กับราคาถูกหรือแพง แต่หากได้รับยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่แล้วจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายและดื้อยาได้
ประโยชน์การป้องกันไม่ให้เกิดโรคแล้ว ยังทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์อีกด้วย การใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม เช่น เค-วาย เจล จะช่วยให้การร่วมเพศราบรื่นยิ่งขึ้น ไม่ควรใช้สารประเภทครีม โลชั่นทาผิว วาสลินหรือน้ำมันมะกอก เพราะจะทำให้ถุงยางแตกและรั่วซึมได้ แต่หากมีอาการผิดปกติใดๆหลังการร่วมเพศ ให้รีบไปรับบริการตรวจรักษา และขอคำปรึกษา จากสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านของรัฐและเอกชนทุกแห่งทันที
" สวมเสื้อผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย สวมถุงยางอนามัยเมื่อเสี่ยงทุกครั้ง หยุดยั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ “
VDO Clip รณรงค์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับเฟสบุ๊ก ที่http://www.youtube.com/watch?v=fl5lwr2ljNg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง " สคร.9 เผยผลโพลพบประชาชนมีกิ๊กนอกใจแฟนร้อยละ 38 เคยมีเซ็กส์กับคนไม่ใช่แฟนแบบไร้ถุงร้อยละ 29 หวั่นเอดส์พุ่ง " ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.550852218337015.1073742042.162933320462242&type=1
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคมโรค กล่าวว่าโรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอชไอวี ช่องทางหลักการติดต่อถ่ายทอดเชื้อนี้มากที่สุดกว่าร้อยละ 84 คือ ทางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีเชื้อในร่างกายกับบุคคลทั่วไป ทั้งระหว่างชายกับหญิง ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ทั้งโดยทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และการใช้ปากกับอวัยวะเพศคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี ขณะนี้โรคเอดส์ยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาต้านไวรัสที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อในร่างกาย และลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเท่านั้น และต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต
จุดอ่อนหรือจุดเปราะบางที่ผ่านมา คือ ประชาชนยังคงมีพฤติกรรมสุขภาพทางเพศเสี่ยงสูงโดยเฉพาะในกลุ่มคู่ผลเลือดต่างในคู่สามีและภรรยา ส่งผลให้อัตราการการเกิดโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ลดลงได้ตามเป้าหมายที่กำหนด การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในเรื่องโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังไม่มีความสม่ำเสมอและทั่วถึง มักกระทำในช่วงวัณรงค์เท่านั้นส่งผลให้ไม่เกิดความตระหนักที่มากเพียงพอในสังคม ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การเปลี่ยนคู่นอนและไม่รู้สถานะของการติดเชื้อเพราะยังไม่ได้ตรวจเลือด เยาวชนมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ยการมีเพศสัมพันธ์ลดลง อัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ส่วนการเข้าถึงถุงยางอนามัยยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปผู้ใหญ่เองมองว่าการส่งเสริมการเข้าถุงยางอนามัยเป็นดาบสองคม ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและสมควรต้องได้รับการปรับทัศนะคตินี้ ขาดแผนยุทธศาสตร์เอดส์ในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดที่เชื่อมโยง และมีส่วนร่วมผูกพันในการปฏิบัติกับองค์กรทุกภาคส่วน
ในช่วงปี 2555-2559 ประเทศไทยจึงมุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ โดยดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการตายเนื่องมาจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ ดังนั้นหน่วยงานได้จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับเรื่องเอชไอวีและเอดส์ โดยการสำรวจทางระบบออนไลน์และสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายในการจัดรณรงค์โรคเอดส์ ช่วงวันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 200 ราย พบว่า
1.ด้านพฤติกรรม ดูออกว่าคนที่มีเซ็กส์ด้วยเคยมีเซ็กส์กับคนอื่นมาก่อนร้อยละ 52 , มั่นใจว่าคู่ของตนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเซ็กส์กับคนอื่นร้อยละ 31, มั่นใจว่าจะมีเซ็กส์กับคนๆ เดียวร้อยละ 62, เคยมีเซ็กส์แบบสอดใส่กับคนอื่นที่ไม่ใช่แฟนหรือคนรักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยร้อยละ 29, ปฏิเสธการมีเซ็กส์เสี่ยงแบบไม่ป้องกันได้ตลอดทุกครั้งร้อยละ 54, มีถุงยางอนามัยเมื่อต้องการใช้ทุกสถานการณ์ร้อยละ 47, เคยใช้เข็มฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่นร้อยละ 9, และเคยไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 56
2. ด้านการรักษา ทราบข้อมูลว่าปัจจุบันมียาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาของคนไทยร้อยละ 73, ทราบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ที่กินยาต้านไวรัสรักษาอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง จะช่วยชลอการเสียชีวิตได้ร้อยละ 83, ทราบว่าผู้ป่วยที่กินยาต้านไวรัสรักษาอยู่จะช่วยป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่นได้ร้อยละ 39
3.ด้านการรังเกียจและตีตรา พบว่าหากติดเชื้อเอชไอวีจะยอมบอกคนในครอบครัวร้อยละ 77, ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ตนรู้จักคือ คนในครอบครัว เพื่อนสนิท รวมกันร้อยละ 9, เป็นคนรู้จักถึงร้อยละ 49, ถ้าทราบว่าคนที่รู้จักติดเชื้อเอชไอวีจะเดินหนีหรืออยู่ห่างๆร้อยละ 14, รู้สึกรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 2 รังเกียจผู้ป่วยเอดส์ร้อยละ 4 และถ้ามีบริการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีจะไปตรวจทันทีร้อยละ 75
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในส่วนภูมิภาค ควรได้ตระหนักถึงความจำเป็นต้องขจัดปัญหาเอชไอวีและเอดส์ โดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์นี้มุ่ง “พลิกสถานการณ์” การตอบสนองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งรัดการต่อสู้กับปัญหาเอชไอวีและเอดส์บรรลุผลให้เป็นศูนย์ สู่ 3 ต. คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา
" ไม่ใช้เข็มร่วมกัน สวมถุงยางอนามัยเมื่อเสี่ยงทุกครั้ง หยุดยั้งโรคเอดส์ให้เหลือศูนย์ได้ “
ฟังเพลงรณรงค์โรคเอดส์เข้าใจง่าย ๆ ที่https://soundcloud.com/prdpc9/83h4d3ozyomw
ดู Clip VDO ความรู้เอชไอวีตรวจเลือด เพื่อก้าวต่อ ที่http://www.youtube.com/watch?v=W7HbP7APVTA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง " สคร.9 ร่วมสมัชชานานาชาติเรื่องเอดส์ ระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 11 " ที่https://www.facebook.com/media/set/?set=a.547569655331938.1073742037.162933320462242&type=1
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก (สคร.9) กรมควบคุมโรค เผยรายงานจากองค์การอนามัยโลก พบผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก 371 ล้านคน และประมาณ 280 ล้านคน เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน คาดว่าปี พ.ศ.2573 หากไม่มีการดำเนินการในการป้องกันและควบคุมที่มีประสิทธิภาพจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 500 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขคาดประมาณผู้เป็นโรคเบาหวานในปัจจุบันว่ามีมากถึง 3.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 1 ใน 3 ที่ไม่รู้ตนเองว่าเป็นโรคนี้ มีผู้ที่เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องแค่ 2.22 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 9.62 แสนคนเท่านั้น ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีมีมากกว่า 2.5 ล้านคน สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้พยากรณ์ว่าไทยมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เกิดขึ้นมากกว่า 5 แสนคนต่อปี และในปี 2555 พบว่าในประชาชนทั่วไป 95 ราย จะมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 1 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 7,749 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 22 คน
โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (คนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 70-110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) เป็นโรคที่เกิดจากปริมาณของฮอร์โมนอินซูลินที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อน ไม่สมดุลกับอาหารแป้งและน้ำตาลที่รับประทานเข้าไป เป็นความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้ได้อย่างเต็มที่ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 90 - 95 คือร่างกายไม่สามารถใช้ฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน
รองลงมาอีกร้อยละ 5 - 10 สาเหตุเนื่องจากร่างการมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินน้อยมาก หรือขาดฮอร์โมนอินซูลินโดนสิ้นเชิง 2 ประเภทนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอยู่เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อ เท้า ไต ตา ระบบประสาท หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และมีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ส่วนเบาหวานชนิดอื่นๆ ที่อาจพบได้น้อย ได้แก่ เบาหวานที่เกิดในขณะตั้งครรภ์ หรือเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุเฉพาะเจาะจง เช่น ความบกพร่องทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน ความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นต้น
สัญญาณเตือนและอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวาน เช่น ช่วงกลางคืนปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติและอาจจะพบว่ามีมดตอม หิวน้ำบ่อยทำให้ต้องดื่มน้ำมากผิดปกติ กินเก่ง หิวเก่ง แต่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง คันตามผิวหนัง และมีรอยดำรอบคอหรือใต้รักแร้ การติดเชื้อราโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย เจ็บตามแขนขา ชาไม่มีความรู้สึกเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึก หย่อนสมรรถภาพทางเพศ แผลหายช้า
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน คือ กรรมพันธุ์ประวัติครอบครัวพ่อแม่ พี่ หรือ น้อง เป็นเบาหวาน อายุมากขึ้นกว่า 45 ปี ผู้ที่อ้วนน้ำหนักเกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักที่ควรเป็น ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 ระดับไขมันเอชดีแอลในเลือดน้อยกว่า 35 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และหรือไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่เบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักเด็กแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
การป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน คือ
1). เลือกรับประทานอาหารที่มีความหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้เกิดความสมดุลของสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ชิมก่อนเติมเครื่องปรุง เลือกอาหารที่รสไม่จัด ลดอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวานและขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม ลดอาหารเค็ม มัน เช่น ของทอด ของมัน ขาหมู หมูสามชั้น อาหารหรือขนมที่ใส่กะทิ ปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ยำ และผัดที่ไม่มัน แทนการทอด อาหารฟาส์ตฟู้ด เพิ่มการกินผักและผลไม้ที่รสไม่หวาน เช่น ส้ม กล้วย แอปเปิ้ล
2). เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่จากผู้อื่น ลดหรือเลิกการดื่มแอลกอฮอล์
3). ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เดินให้มากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายให้กระฉับกระเฉง
4). ควบคุมให้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม รอบเอวชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร
5). ควบคุมไม่ให้ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90
6). ในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรรับไปรับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง
7). ดูแลจิตใจและอารมณ์ ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายความเคียด ควบคุมอารมณ์
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะให้เป็นปกติได้ ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ แต่ต้องให้ร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสุขภาพตนเองเพื่อทำให้การเจ็บป่วยจากโรคอื่นน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายคงอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ได้นานเท่าคนปกติได้
“ กินอาหารควบคุม ออกกำลังกายทุกวัน ตรวจน้ำตาลทุก 3 ปี พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน“
ฟังเพลงรณรงค์เบาหวานที่ https://soundcloud.com/prdpc9/jvauyh0jkrzv
ดู Clip VDO สปอตสั้นสู้โรค " โรคเบาหวาน" ที่http://www.youtube.com/watch?v=PGmQJaVp6eg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง “ สคร.9 เผยคนไทยตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดพุ่ง 3 หมื่นต่อปี แนะแนวทางเพื่อหัวใจที่แข็งแรง “ ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.520150258073878.1073742001.162933320462242&type=1
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยในการรับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีพิษณุโลก ว่า “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือที่ชาวบ้านรู้จักว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นับวันจะรุนแรงขึ้น จัดเป็น 1 ในโรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุหลักของการตายในประชากรทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอัมพาตโลกรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน หรือในทุก 6 วินาทีจะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คนจากโรคนี้ และเป็นหญิงมากกว่าชาย
ส่วนในประเทศไทย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2555 พบอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองเฉลี่ย 31.7 รายต่อประชากร 1 แสนราย มีอัตราป่วยสูงสุดที่ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง แนวโน้มการเกิดโรคและการป่วยไม่ได้ลดลง อัตราป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2573 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 16 ล้านคน ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี จึงเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาตในบั้นปลายชีวิต โรคหลอดเลือดสมอง คือ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.) โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน คือ มีการอุดตันของหลอดเลือดซึ่งอาจเกิดจากการที่มีก้อนเลือดจากหัวใจหรือก้อนไขมันจากหลอดเลือดที่คอมาอุดที่หลอดเลือดในสมอง หรืออาจเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ) ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้
2.) โรคหลอดเลือดสมองแตก โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงมานาน ทำให้เกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง และเกิดการแตกของหลอดเลือด ก้อนเลือดจะไปกดเนื้อสมอง ทำให้ขาดออกซิเจน ขาดอาหาร การรักษาของโรคนี้ทำได้ดังนี้คือ รักษาด้วยยา ด้วยการผ่าตัด ด้วยการฉายรังสี การทำกายภาพฟื้นฟู
องค์การอัมพาตโลก ได้ระบุปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองไว้ 8 ปัจจัย คือ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ระดับโคเรสเตอรอลในเลือดสูง ประวัติญาติสายตรงเคยเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายน้อย ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สูบบุหรี่เป็นประจำ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สัญญาณเตือนของอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว ดังนี้
1. การอ่อนแรงของหน้า แขน หรือขาซีกเดียว
2. สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการพูด
3. การมองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง
4. มีปัญหาด้านการเดิน มึนงง สูญเสียการสมดุลการเดิน
อาจพบเพียง 1 อาการ หรือมากกว่า 1 อาการ โดยต้องรีบปฏิบัติดังนี้ทันที
- หยุดกิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำอยู่
- ให้นอนราบเพื่อป้องกันการหกล้มบาดเจ็บที่ศีรษะ
- ในผู้ป่วยที่หมดสติ ให้ตะแคงตัวหรือหันหน้าไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก
- รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีไม่ว่าจะมีอาการหนักหรือเบา
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวอธิบายต่อถึงแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอย่างง่าย 6 ข้อ ดังนี้
1. รับรู้ความเสี่ยงของตนเอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
2. มีกิจกรรมทางกายที่เคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. ควบคุมตนเองไม่ปล่อยให้อ้วน โดยการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
4. จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. หลีกเลี่ยงการทดลองสูบบุหรี่ กรณีสูบอยู่แล้ว ให้หาทางในการหยุดสูบ และหลีกเลี่ยงบุหรี่มือสอง
6. เรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและแนวทางการป้องกัน แก้ไข
ข้อความหลัก “1 ใน 6 ไม่ใช่คุณ เพราะคุณใส่ใจ จึงพ้นภัยอัมพาต“
ฟังเพลงรณรงค์ความดันโลหิตสูงที่https://soundcloud.com/prdpc9/egud8l9am7dg
ดู Clip VDO สปอตสั้นสู้โรค " ความดันโลหิตสูง" ที่http://www.youtube.com/watch?v=dW6Idd4KlYQ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง “ สคร.9 เผยคนไทยตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดพุ่ง 3 หมื่นต่อปี แนะแนวทางเพื่อหัวใจที่แข็งแรง “ ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.520150258073878.1073742001.162933320462242&type=1
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ
หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า
ด้วยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่มีลักษณะใกล้ภูเขาบางแห่งเริ่มมีอุณภูมิหนาวเย็นและมีหมอกหนา
เหมาะสมกับการระบาดของเชื้อโรคหลายชนิดและเสี่ยงกับภัยสุขภาพ
อากาศที่หนาวและแห้งอาจทำให้ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก
และผู้ป่วยโรคประจำตัวเรื้อรังบางชนิดกำเริบได้ง่าย เช่น
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคโลหิตจาง
เนื่องจากมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำ
หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งพอ
อาจส่งผลให้ประชาชนที่ไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องนุ่งห่มกันหนาวอย่างเพียงพอ
เจ็บป่วย
และอาจถึงกับเสียชีวิตเหมือนปีที่ผ่านมาได้
ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ ๆ
เคยประสบปัญหาภัยหนาว ควรมีแนวทางการป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น
โรคจากภาวะอุณหภูมิต่ำ โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
ฯลฯ ดังนี้
รู้ก่อน : คือ
ควรเตรียมเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาวให้เพียงพอกับสมาชิกในครอบครัว
เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น เช่น ผู้ป่วยหอบหืด
ของใช้ที่จำเป็นในครอบครัว เช่น หน้ากากอนามัย ยาสามัญประจำบ้าน
และคอยฟังข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสื่อมวลชน
รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกปีในกลุ่มเสี่ยง เช่น
ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ ไตวาย เบาหวาน และเด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 2
ขวบ
รู้ทัน : สิ่งควรทำ คือ
สวมเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มกันหนาวและดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ
รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที 3 - 4
วันต่อสัปดาห์ จะช่วยทำให้ร่างกายทนต่อความหนาวเย็นได้มากขึ้น ทาน้ำมันมะพร้าว
โลชั่น รักษาความชุ่มชื่นของร่างกายไม่ให้ผิวหนัง
และทาลิปมันป้องกันริมฝีปากแห้งแตกเป็นแผล
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพลังงาน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผักผลไม้
ไม่ควรดื่มสุรา เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสติและขาดภูมิคุ้มกัน นำมาซึ่งโรคต่าง ๆ
เช่น ปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก
ไม่ควรนอนในที่โล่งแจ้งลมโกรกโดยไม่สวมเสื้อผ้าหรือห่มผ้า
ไม่ผิงไฟในที่อับอากาศ เช่น ในเต๊นท์
ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินลมหายใจ ไอ จาม
น้ำมูก
ผู้ที่อ่อนแอนเมื่อเจ็บป่วยให้รีบไปตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที
ป้องกันได้
: คือ ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว
โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองให้แช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือต้มป้องกันเชื้อโรคผิวหนัง
ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ตบฝุ่น ผึ่งแดด เครื่องนอน ที่นอน หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
ล้างมือให้สะอาด หลังการจามหรือไอ หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
ก่อนและหลังอาหาร การเข้าห้องน้ำ การเตรียมอาหาร การทำงานต่าง ๆ มีสุขอนามัยที่ดี
เมื่อไอ จาม ให้ปิดปากปิดจมูกด้วยผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้า
และเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูกเสมอ
เภสัชกรเชิดเกียรติ
กล่าวต่อว่า
ที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษคือ ในฤดูหนาวปีที่ผ่านมาพบรายงานมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มสุราในปริมาณมาก
ประชาชนบางส่วนดื่มสุราเพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ร่างกายอบอุ่น
คลายหนาวได้ และช่วยลดความปวดเมื่อย
แต่แท้จริงแล้วเป็นความเชื่อและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่เป็นอันตราย
เพราะการดื่มสุราทำให้ร่างกายอ่อนแอ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
และให้ระมัดระวังการก่อไฟผิงในที่อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้สูดดมควันไฟเข้าไป
ส่งผลให้เด็กเล็กและคนชรา เจ็บป่วยจากภาวะโรคทางเดินหายใจได้
และต้องย้ำเตือนว่าอย่าผิงไฟในเต๊นท์ หรือห่มผ้าคลุมศรีษะจนหมด
เพราะอาจเกิดการสำลักควัน หมดสติ
และเสียชีวิตได้
ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว
หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และก่อนนอนให้สวมเสื้อกันหนาวให้ร่างกายอบอุ่น
ห่มผ้าหนาๆ หมั่นคอยดูแลสุขภาพตนเองและบุตรหลานให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือบ่อย ๆ
ไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร
แต่การที่เรามีสุขภาพที่ดีจะเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
และทำให้การเจ็บป่วยน้อยลง หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์
โทรศัพท์ 1422
ข้อความหลัก “ ภัยหนาวป้องกันได้ งดดื่มเหล้า
สวมเสื้อผ้าหนาไว้ให้อบอุ่น “
ดู Clip VDO
วิธีทำเสื้อพิชิตภัยหนาวอย่าง่าย ที่http://www.youtube.com/watch?v=-vVcOwQN7qE
ฟังเพลงรณรงค์ป้องโรคจากฤดูหนาวที่https://soundcloud.com/prdpc9/otps8tpiu425
Download
ประกาศกรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคจากฤดูหนาวที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/tranfers/guideline/2555_11_05_ddc_cool.pdf
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค :
การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล
เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
รายละเอียดภาพข่าวนี้ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.526432620778975.1073742014.162933320462242&type=1 รหัสข่าว 009111056.3
สิริกุล สิทธิพร ถิ่นจันทร์ /
รายงาน
จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/
ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่
9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615-7 ต่อ
334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ
ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd