วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สคร.9 รู้ทันยุงลายตัวเมียฆาตรกรไข้เลือดออกชอบกัดคน 6 ประเภท แนะวิธีป้องกันไม่ให้ยุงกัด



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด จากข้อมูลของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรองของหน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 เมษายน 2556 มีผู้ป่วยสะสมรวมมากถึง 2,862 ราย เสียชีวิตจำนวน 4 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ 10 - 14 ปี รองลงมาคือ 5 - 9 ปี และ 15 - 24 ปีตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบอัตราป่วยไข้เลือดออกในช่วงเดือน มกราคม ถึง เมษายน พบว่าปี 2556 มากกว่าปี 2555 ถึงเป็น 3.1 เท่าตัว




เนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา และไม่มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ยุงตัวเมีย 1 ตัวจะไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง ใน 4-6 ครั้งในช่วงชีวิต 60 วันของยุงตัวเมียหนึ่งตัวจึงมีลูกได้ราว 500 ตัว ดังนั้นการป้องกันโรคโดยการตัดตอนวงจรชีวิตของยุงจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ได้ หรือไข่แล้วก็ไม่ให้กลายเป็นยุง เน้นที่การควบคุมลูกน้ำด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ เนื่องจากสามารถทำลาย ได้ง่ายและไม่สิ้นเปลือง



จากข้อมูลของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ยุงลายชอบกัดคน 6 ประเภทด้วยกันคือ เด็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะกลิ่นและลักษณะผิวหนัง ผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะฮอร์โมนแตกต่างกัน คนที่หายใจแรงเพราะคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจจะเป็นตัวดึงดูดยุง คนที่ตัวร้อนเพราะอุณหภูมิบริเวณผิวหนังจะสูง คนที่มีเหงื่อออกมาก คนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม คำแนะนำการป้องกันไม่ให้ยุงกัด คือ

• การใช้ผลิตภัณฑ์ฉีดไล่ยุง เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า ใช้ยาจุดกันยุง ยาทากันยุงกัด หรือใช้กลิ่นของสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น

• นอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือเปิดพัดลมไล่ยุง



เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายถึงกลยุทธ์การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก คือ ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้เลือดออก เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่เชื้อ เพื่อเตรียมการป้องกัน ตนเองและคนในบ้าน แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อมาดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคทันที ให้สมาชิกในครอบครัว ป้องกันการถูกยุงกัดตามคำแนะนำเบื้องต้น สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้จัดการเสีย เฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็น ไข้เลือดออก ให้ผู้ป่วยนอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด



อย่างไรก็ตามอย่าชะล่าใจเพราะทุกคนก็มีโอกาสโดนยุงกัดได้หมด ควรระวังและป้องกันตัวไม่ให้ถูกยุงกัดจะดีที่สุด หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ให้ระลึกเสมอว่าฤดูฝนนี้เป็นช่วงของการระบาดของโรคไข้เลือดออก อย่านิ่งนอนใจจนไปพบแพทย์ช้าซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการหนัก รักษายากและอาจเสียชีวิตได้ และหากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422



ข้อความหลัก “มาตรการ 5 ป. 1 ข. เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก“



ฟังเพลงไข้เลือดออกที่ https://soundcloud.com/prdpc9/xzjxzwhrcoq1



ดู Clip VDO อธิบายมาตรการ กำจัดลูกน้ำยุงลาย แบบเข้าใจง่าย ๆ ที่ http://www.youtube.com/watch?v=lMDDbpUoVBg



ข่าวที่เกี่ยวข้อง " เผยยุงตัวเมียหนึ่ง มีลูกได้ 500 ตัว แนะทุกบ้าน เก็บ ฝัง ทำลาย หรือปิดมิดชิด ป้องลูกหลานจากไข้เลือดออก " ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.468618103227094.1073741911.162933320462242&type=1











ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ



รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมด https://www.facebook.com/media/set/?set=a.475737815848456.1073741923.162933320462242&type=1









จิดาภา รอดอยู่ / รายงาน / เผยแพร่

เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน

โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้

โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238

Email : dpc9phs@yahoo.com

ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น