วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เผยช่วงน้ำท่วมพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ อุจาระร่วง พุ่งสูงอันดับแรก


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า โรคที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคสูงที่สุดขณะน้ำท่วมและหลังน้ำลด คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และปัญหาด้านสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมจากของเสียต่าง ๆ ดังนั้นชุมชนและประชาชนควรมีความรู้ในการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี มิฉะนั้นจะส่งผลต่อการเกิดโรคระบาดต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย


จากรายงานเฝ้าระวังพิเศษโรคจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 5-19 ตุลาคม 2554 จำนวน 33 จังหวัด 232 อำเภอ พบอัตราป่วยของประชาชนอันดับแรก คือ โรคอุจจาระร่วง ถึง 3,146 ราย สาเหตุสำคัญมาจาก โรคอาหารเป็นพิษ ที่เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่พบได้บ่อย เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ หรือไม่ได้อุ่นให้ร้อนเพียงพอก่อนรับประทาน สาเหตุของอาหารเป็นพิษมีมากมาย และอาการของอาหารเป็นพิษก็มีหลากหลายตามไปด้วย อาจแบ่งชนิดของอาหารเป็นพิษได้หลายแบบ เช่น ตามชนิดของเชื้อ ตามสารพิษหรือพิษในอาหาร หรือตามอาการเจ็บป่วย

ส่วนใหญ่แล้วภาวะอาหารเป็นพิษมักจะไม่มีอาการรุนแรง และอาการจะเป็นไม่นาน ผู้ป่วยอาจมีเพียงอาการท้องเสียเพียงแค่สองสามวัน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือบางคนไม่มีไข้เลยก็ได้ อาจเพียงรู้สึกปวดมวนท้องบ้างเล็กน้อย หากเชื้อติดเชื้อบางชนิดทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภูมิต้านทานลดน้อย เช่น เด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ โรคเบาหวาน หรือโรคเอดส์ หากภาวะอาหารเป็นพิษนี้เกิดขึ้นการติดเชื้อจะรุนแรงและทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้

เภสัชกรเชิดเกียรติ ให้คำแนะนำว่าผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวเป็นเนื้อปนน้ำไม่จำเป็นรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อทันที แต่หากมีอาการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือมีถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส จะช่วยป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ แต่เมื่อถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด จึงจะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่ประชาชนสามารถป้องกันได้ ด้วยการกันดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง จึงขอแนะนำง่าย ๆ 10 ประการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ คือ

1) เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้สะอาดทั่วถึง

2) ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน

3) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ

4) หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็นส่วนอาหารสำหรับทารกนั้นไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ

5) ก่อนที่จะนำอาหารมารับประทานควรอุ่นให้ร้อน

6) ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีกเพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้

7) ล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ

8) ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง

9) เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ

10) ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารกได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังตนเอง ลูกหลาน และครอบครัว จากโรคอาหารเป็นพิษ ท่านก็จะปลอดภัยจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงได้



ข้อความหลัก " กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด ป้องกันโรคอุจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_30_dia.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น