วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เผยโรคติดต่อร้ายแรงกว่า 10 ชนิด สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แนะผู้ปกครองนำบุตรหลานไปตามกำหนดนัดทุกครั้ง


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า เด็กทุกคนมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดให้มีบริการวัคซีนแก่เด็กทุกคน โดยปัจจุบันมีโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน รวม 10 โรค คือวัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี โปลิโอ หัด คางทูม หัดเยอรมัน และไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนบางชนิดต้องได้รับมากกว่า 1 ครั้ง จึงจะสามารถป้องกันโรคได้นาน ดังนั้นเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ผู้ปกครองต้องนำไปให้วัคซีนตามกำหนด ดังนี้


แรกเกิด วัคซีนวัณโรค และวัคซีนตับอักเสบบี

2 เดือน วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี และหยอดโปลิโอ ครั้งที่ 1

4 เดือน วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี และหยอดโปลิโอ ครั้งที่ 2

6 เดือน วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี และหยอดโปลิโอ ครั้งที่ 3

9 เดือน วัคซีนรวมหัด คางทูม หัดเยอรมัน ครั้งที่ 1

1 ½ ปี วัคซีนไข้สองอักเสบเจอี ครั้งที่ 1 และ 2 (ห่างกัน 4 สัปดาห์) วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และหยอดโปลิโอ ครั้งที่ 4

2 ½ ปี วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ครั้งที่ 3

4 ปี วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และหยอดโปลิโอ ครั้งที่ 5

โดยเด็กที่คลอดจากแม่ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี ให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเพิ่มอีก 1 เข็ม เมื่อเด็กอายุ 1 เดือน ส่วนการให้วัคซีนในเด็กวัยเรียน มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคสูงขึ้นเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ในระยะเวลานาน คือ เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 6 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนของเด็กตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน แล้วพิจารณาให้วัคซีนเสริมแก่เด็กจนครบถ้วน ดังนี้

ป.1 ( 7 ปี ) วัคซีนรวมหัด คางทูม หัดเยอรมัน ทุกคน วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก และหยอดโปลิโอในรายที่ ได้มาไม่ครบ 5 ครั้ง วัคซีนวัณโรค ให้เฉพาะในรายที่ไม่มีหลักฐานว่าเคยได้รับเมื่อแรกเกิดและไม่มีแผลเป็น

ป.6 ( 12 ปี ) วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ทุกคน

หากเมื่อเด็กย้ายที่อยู่ ผู้ปกครองโปรดนำสมุดบันทึกสุขภาพเด็กไปติดต่อสถานบริการสาธารณสุขที่สะดวก เพื่อขอรับวัคซีนต่อให้เด็กจนครบ ดังนั้นสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กจึงมีความสำคัญมาก จึงต้องเก็บรักษาไว้ตลอดไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบการรับวัคซีนในโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือใช้เป็นหลักฐานในการสมัครเรียนต่อ หรือทำงานในต่างประเทศ หรือใช้เป็นหลักฐานในการให้วัคซีนครั้งต่อไปในกรณีที่ไม่ได้รับวัคซีนบางชนิดหรือได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน เป็นต้น

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวให้คำแนะนำต่อว่า ก่อนได้รับวัคซีน เด็กอาจเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ไอ มีไข้ต่ำ ๆ เด็กสามารถรับวัคซีนได้ และหลังได้รับวัคซีนบางชนิด เด็กอาจมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ ซึ่งจะหายได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ควรเช็ดตัว ให้ดื่มน้ำให้มากๆ และให้ยาลดไข้ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ถ้าเด็กเคยมีประวัติแพ้ยา หรือเคยมีอาการรุนแรงหลังได้รับวัคซีน เช่น หายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ชัก ไข้สูงมาก โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนรับวัคซีนทุกครั้ง ที่สำคัญวัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องได้รับมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นร่างกายให้มีภูมิต้านทานสูงในระดับที่ป้องกันโรคได้ ผู้ปกครองจึงควรพาเด็กไปรับวัคซีนตามนัดทุกครั้ง ในกรณีที่ไม่สามารถไปรับวัคซีนได้ตามกำหนดได้ ให้นัดหน่วยบริการสาธารณสุขไปรับวัคซีนโดยเร็วที่สุด โดยไม่ต้องเริ่มต้นให้วัคซีนนั้น ๆ ใหม่



ข้อความหลัก “ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด โรคติดต่อร้ายแรงที่สำคัญ ป้องกันได้ด้วยวัคซีน “

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_12_10_vac.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น