วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 เปิดตัว 11 นวัตกรรมท้องถิ่น หวังหยุดไข้เลือดออกเหนือล่างที่แผ่ขยายเกือบ 1500 หมู่บ้าน



 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้เกิดฝนตกชุกกระจายไปทั่วพื้นที่ เกิดแหล่งน้ำขังนิ่งหลังฝนหยุดตก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้น ในบางพื้นที่ประชาชนยังอาศัยอยู่ภายนอกอาคารบ้านเรือน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดมากกว่าภาวะปกติ จึงทำให้เกิดความรุนแรงการแพร่ระบาดของสถานโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากกลุ่มปฏิบัติการควบคุมโรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข และกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ของหน่วยงาน รายงานว่าตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 2 กรกฎาคม 2556 ทั้งประเทศมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก 59,318 ราย มีผู้เสียชีวิต จำนวน 68 ราย ในภาคเหนือ 18 จังหวัดพบผู้ป่วยจำนวน 13,637 ราย เสียชีวิต 14 ราย

ส่วนในเขตภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด ( พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย ) พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 3,572 ราย เสียชีวิต 5 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคืออายุ 5 - 9 ปี , 15 - 24 ปี , 0 - 4 ปี และ 25 - 34 ปี ตามลำดับ และพบหลายจังหวัดยังคงมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางแผนที่ พบว่ามีหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยทั้งหมด จำนวน 1,410 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 32 ของหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว

ดังนั้นหากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกไข้สูงลอยนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ให้ระลึกเสมอว่าฤดูฝนนี้เป็นช่วงของการระบาดของโรคไข้เลือดออก อย่านิ่งนอนใจจนไปพบแพทย์ช้าซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการหนัก รักษายากและอาจเสียชีวิตได้

สรุปมาตรการที่สำคัญที่ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ เร่งป้องกันและควบคุมโรค ”3 ร” (ในโรงเรียน โรงเรือนหรือที่อยู่อาศัย และโรงพยาบาล ) การป้องกันอย่าให้ถูกยุงกัดโดยประชาชนต้องมีพฤติกรรม “ 3 เก็บ “ ( เก็บขยะ เก็บบ้าน เก็บน้ำ ) รวมทั้งการจัดการกับสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีแหล่งเพาะพันพันธุ์ยุงลาย ตัดวงจรการเกิดและการแพร่กระจายยุง ด้วยวิธีปฏิบัติ “5ป.+1ข ปราบยุงลาย“ ( ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และขัดล้างไข่ยุงลาย ) เพื่อไม่ให้ยุงลายใช้เป็นที่วางไข่ขยายพันธุ์ ตัดวงจรการขยายพันธุ์ของยุง

ดังนั้นชุมชน โรงเรียน วัด และประชาชนแต่ละครัวเรือน สามารถควบคุมกำจัดยุงพาหะนำโรคด้วยวิธีการง่ายๆ ด้วยตัวเองได้ โดย ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 9.1 พิษณุโลก ที่เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก ได้มีการรวบรวบรวม “ นวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในการกำจัดลูกน้ำและยุงลายตัวเต็มวัย “ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก มากถึง 11 ภูมิปัญญาไทย จำแนก 3 กลุ่ม ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ทันที คือ

กลุ่มที่ 1) ใช้ป้องกันยุงไม่ให้วางไข่ ได้แก่ ตาข่ายในล่อนหรือผ้าขาวบางปิดปากโอ่ง ผงซักฟอก
กลุ่มที่ 2) ควบคุมลูกน้ำ ได้แก่ มะกรูด ปูแดงที่ใช้กินกับหมาก เกลือแกง อิฐมอญ ปลาหางนกยูง กาลักน้ำดูด
กลุ่มที่ 3) ไล่หรือกำจัดยุงตัวเต็มวัย ได้แก่ ตะไคร้หอม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ปี๊บดักยุง

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวทิ้งทายว่า ชุมชนหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับแผ่นพับคำอธิบายรายละเอียดวิธีการใช้ 11 ภูมิปัญญาไทย ได้ที่หน่วยควบคุมโรคนำโดยแมลงใกล้บ้าน ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 9.1 พิษณุโลก , ที่ 9.2 เพชรบูรณ์ , ที่ 9.3 แม่สอด และที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก รวมทั้งหน่วยงานยังอำนวยความสะดวกให้สามารถดาวโหลดแผ่นพับคำอธิบายดังกล่าว เพื่อให้นำไปผลิตสื่อซ้ำใช้แจกจ่ายในท้องถิ่นตนเองได้ที่เว็ปไซต์http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd หรือทางเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์เฟสบุ๊กที่ http://www.facebook.com/dpc9news

ข้อความหลัก “มาตรการ 5 ป. 1 ข. เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก“

ฟังเพลงไข้เลือดออกที่ https://soundcloud.com/prdpc9/xzjxzwhrcoq1

ดู Clip VDO อธิบายมาตรการ กำจัดลูกน้ำยุงลาย แบบเข้าใจง่าย ๆ ที่ http://www.youtube.com/watch?v=lMDDbpUoVBg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง " รู้ทันยุงลายตัวเมียฆาตรกรไข้เลือดออก ชอบกัดคน 6 ประเภท แนะวิธีป้องกันไม่ให้ยุงกัด " ที่https://www.facebook.com/media/set/?set=a.475737815848456.1073741923.162933320462242&type=1




 
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมด https://www.facebook.com/media/set/?set=a.483967115025526.1073741939.162933320462242&type=1



        

จิดาภา รอดอยู่ / รายงาน / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น