วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แนะประชาชนพื้นที่น้ำขังนิ่งใช้น้ำหมักบำบัดน้ำเสีย ที่แห้งใช้ปูนขาว คลอรีน ขจัดกลิ่นเหม็น แมลงวัน ป้องกันโรค



นายเมธิน ศิริวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 กรมพัฒนาที่ดิน จากสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ของประเทศ หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยในระดับวิกฤต และเดือดร้อนรุนแรง ทั้งระดับน้ำสูงและระยะเวลาการท่วมขังยาวนาน จากภัยพิบัติดังกล่าว กรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้าดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น โดยเร่งผลิตน้ำหมักชีวภาพ ชื่อ “ พด.6 ” เพื่อนำไปบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจนเน่าเหม็น ส่งกลิ่นรบกวนต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งกรมฯได้สั่งการให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ร่วมกับหมอดินอาสาที่เป็นเครือข่าย เร่งผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ให้มีปริมาณมากเพียงพอต่อความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียจากการท่วมขังได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา


น้ำหมักบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมัก การย่อยสลายสารอินทรีย์ และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเหม็น เนื่องจากประกอบด้วยแบคทีเรียผลิตเอนไซม์โปรทีเอสย่อยสลายโปรตีน แบคทีเรียผลิตเอนไซม์ไลเปสย่อยสลายไขมัน แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก และยีสต์ผลิตกรดอินทรีย์

นายเมธิน กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการในการขอรับบริการ ประชาชนหรือชุมชนสามารถเลือกใช้วิธีการได้ดังต่อไปนี้

1. ชุมชนหรือประชาชนติดต่อรับน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต หรือสถานีพัฒนาที่ดินใกล้เคียง

2. สำหรับชุมชนใดที่ต้องการในปริมาณมาก สามารถติดต่อขอรับสารเร่ง พด.6 ไปผลิตเองได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการละลายกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ในน้ำ 50 ลิตร ในถังสำหรับขยายเชื้อให้ใส่สารเร่ง พด.6 จำนวน 1 ซอง ผสมให้เข้ากันหมักไว้ 3 วัน ปิดฝาไม่ต้องสนิท และให้คนให้เข้ากันวันละ 1 ครั้ง

3. รวมตัวเป็นชุมชน แล้วแจ้งมายังสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต หรือสถานีพัฒนาที่ดินใกล้เคียง เพื่อดำเนินการนำอุปกรณ์การหมักไปบริการดำเนินการให้ในพื้นที่ชุมชน

4. ขอรับการสนับสนุนน้ำหมักในปริมาณมาก โดยใส่รถบรรทุกน้ำเพื่อเข้าไปฉีดในพื้นที่

วิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.6 บำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น ให้ใช้จำนวน 15–25 ลิตรต่อไร่ ในบริเวณน้ำท่วมขังนานจนเกิดเน่าเสีย ที่ความลึก 10–15 เซนติเมตร หากน้ำขังมีความลึกมากน้อยกว่าที่ระบุข้างต้นให้คำนวณตามสัดส่วน หรือใช้สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น จำนวน 1 ลิตร ในน้ำเสีย 10 ลูกบาศก์เมตร วิธีการใช้ให้เทสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นในบริเวณน้ำท่วมขังนานจนเกิดเน่าเสียทุก ๆ 10 วัน หากมีกลิ่นเหม็นมากให้ใช้ทุก ๆ 3 วัน ( ดูสูตรการทำน้ำหมักชีวภาพ ( EM ) กรมพัฒนาที่ดิน )



ด้าน เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า จากการที่ภาวะน้ำท่วมเริ่มลดลงในบางพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนที่ประสบภัยอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ ฯลฯ และปัญหาด้านสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่นรบกวนจากของเสียตกค้างต่าง ๆ ที่ต้องจัดการอย่างถูกสุขลักษณะเพื่อการป้องกันควบคุมโรค ในส่วนพื้นที่กึ่งแห้งหรือดินโคลน ประชาชนสามารถใช้ปูนขาว ที่มีราคาถูกหาซื้อได้ง่าย สาดโรยผงปูนขาวให้ทั่วในจุดรวมของเสีย เช่น บริเวณที่พักขยะ อุจจาระจากฟาร์มเลี้ยงหมู ถุงพลาสติกใส่อุจจาระ เพื่อดูดซับความชื้น ลดกลิ่น ไล่แมลงวัน และยับยั้งเชื้อแบคที่เรียที่ชอบความเป็นกรด ส่วนในพื้นที่แห้งแล้ว เช่น บริเวณบ้าน หรือแผงค้าในตลาดหลังน้ำลด สามารถใช้สารฆ่าเชื้ออีกอย่างหนึ่ง คือ ใช้ผงปูนคลอรีน 60%ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ปี๊ปใส่ลงในบัวรดน้ำ แล้วราดทางเดิน ร่องระบายน้ำเสียให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจาง แล้วราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว


ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ

สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_28_smell.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น