วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สคร.9 เตือนภัยอัมพฤกษ์ อัมพาต ทุก 6 วินาทีจะมีคนเสียชีวิต 1 คน แนะดู 4 สัญญาณเตือนภัย



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยในการรับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีพิษณุโลก ว่า “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือที่ชาวบ้านรู้จักว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นับวันจะรุนแรงขึ้น จัดเป็น 1 ในโรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุหลักของการตายในประชากรทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอัมพาตโลกรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน หรือในทุก 6 วินาทีจะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คนจากโรคนี้ และเป็นหญิงมากกว่าชาย

ส่วนในประเทศไทย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2555 พบอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองเฉลี่ย 31.7 รายต่อประชากร 1 แสนราย มีอัตราป่วยสูงสุดที่ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง แนวโน้มการเกิดโรคและการป่วยไม่ได้ลดลง อัตราป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2573 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 16 ล้านคน ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี จึงเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาตในบั้นปลายชีวิต โรคหลอดเลือดสมอง คือ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.) โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน คือ มีการอุดตันของหลอดเลือดซึ่งอาจเกิดจากการที่มีก้อนเลือดจากหัวใจหรือก้อนไขมันจากหลอดเลือดที่คอมาอุดที่หลอดเลือดในสมอง หรืออาจเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ) ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้
2.) โรคหลอดเลือดสมองแตก โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงมานาน ทำให้เกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง และเกิดการแตกของหลอดเลือด ก้อนเลือดจะไปกดเนื้อสมอง ทำให้ขาดออกซิเจน ขาดอาหาร การรักษาของโรคนี้ทำได้ดังนี้คือ รักษาด้วยยา ด้วยการผ่าตัด ด้วยการฉายรังสี การทำกายภาพฟื้นฟู

องค์การอัมพาตโลก ได้ระบุปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองไว้ 8 ปัจจัย คือ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ระดับโคเรสเตอรอลในเลือดสูง ประวัติญาติสายตรงเคยเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายน้อย ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สูบบุหรี่เป็นประจำ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สัญญาณเตือนของอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว ดังนี้
1. การอ่อนแรงของหน้า แขน หรือขาซีกเดียว
2. สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการพูด
3. การมองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง
4. มีปัญหาด้านการเดิน มึนงง สูญเสียการสมดุลการเดิน

อาจพบเพียง 1 อาการ หรือมากกว่า 1 อาการ โดยต้องรีบปฏิบัติดังนี้ทันที
- หยุดกิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำอยู่
- ให้นอนราบเพื่อป้องกันการหกล้มบาดเจ็บที่ศีรษะ
- ในผู้ป่วยที่หมดสติ ให้ตะแคงตัวหรือหันหน้าไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก
- รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีไม่ว่าจะมีอาการหนักหรือเบา
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวอธิบายต่อถึงแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอย่างง่าย 6 ข้อ ดังนี้
1. รับรู้ความเสี่ยงของตนเอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
2. มีกิจกรรมทางกายที่เคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสม
3. ควบคุมตนเองไม่ปล่อยให้อ้วน โดยการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
4. จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. หลีกเลี่ยงการทดลองสูบบุหรี่ กรณีสูบอยู่แล้ว ให้หาทางในการหยุดสูบ และหลีกเลี่ยงบุหรี่มือสอง
6. เรียนรู้สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและแนวทางการป้องกัน แก้ไข

ข้อความหลัก “1 ใน 6 ไม่ใช่คุณ เพราะคุณใส่ใจ จึงพ้นภัยอัมพาต“

ฟังเพลงรณรงค์ความดันโลหิตสูงที่https://soundcloud.com/prdpc9/egud8l9am7dg

ดู Clip VDO สปอตสั้นสู้โรค " ความดันโลหิตสูง" ที่http://www.youtube.com/watch?v=dW6Idd4KlYQ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง “ สคร.9 เผยคนไทยตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดพุ่ง 3 หมื่นต่อปี แนะแนวทางเพื่อหัวใจที่แข็งแรง “ ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.520150258073878.1073742001.162933320462242&type=1




 
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

รายละเอียดภาพข่าวนี้ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.533872393368331.1073742020.162933320462242&type=1 


        

รหัสข่าว 015251056.3
จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น