วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 เผยบทเรียนอุทกภัยเสียชีวิตจากจมน้ำมากที่สุดถึงร้อยละ 83 ย้ำเตือนแก้ไขประวัติศาสตร์น้ำหลากประชาชนอย่าประมาท




สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยบทเรียนเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ที่มาผ่านมา พบอันตรายที่สำคัญในช่วงน้ำท่วม คือ การจมน้ำ เป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด อันดับ 1 เช่น การจมน้ำ อาทิ การหาปลา เรือพลิกคว่ำ ตกเรือ เมาสุรา เป็นต้น มากถึงจำนวน 901 ราย คิดเป็นร้อยละ 83 ของผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมด (1,083 ราย ) ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี มากถึง 99 ราย เตือนประชาชนที่ต้องทำกิจกรรมทางน้ำให้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันที่ลอยน้ำได้ เด็กไม่ควรเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วมและน้ำเชี่ยวไหลหลาก ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด


หากพบคนจมน้ำควรหาอุปกรณ์ วัสดุ ที่หาง่ายและอยู่ใกล้ตัวที่ลอยน้ำได้โยนหรือยื่นให้คนที่กำลังจะจมน้ำ แล้วจับแล้วดึงลากเข้าฝั่งโดยที่คนช่วยเหลืออยู่บนฝั่ง การช่วยเหลือผู้จมน้ำที่ถูกต้องคือการเป่าปาก หากพบเห็นผู้จมน้ำและช่วยเหลือด้วยตนเองไม่ได้ หรือไม่มีอุปกรณ์ ให้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบริเวณนั้นๆ หรือโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด



รายละเอียดข่าว



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ปัญหาเด็กจมน้ำ เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี มากกว่าการตายจากโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ ในแต่ละปี เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ตายจากการจมน้ำปีละ 1,400 – 1,500 คน จากบทเรียนเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ที่มาผ่านมา พบว่าอันตรายที่สำคัญมากในช่วงน้ำท่วม คือ การจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด โดยข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าสาเหตุอันดับ 1 ที่มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ได้แก่ การจมน้ำ อาทิ การหาปลา เรือพลิกคว่ำ ตกเรือ เมาสุรา เป็นต้น มากถึงจำนวน 901 ราย คิดเป็นร้อยละ 83 ของผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมด (1,083 ราย ) ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี มากถึง 99 ราย ส่วนอีก 802 รายเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี



การจมน้ำช่วงน้ำท่วมมักมีสาเหตุจากอุบัติเหตุและความประมาท การพลัดตกลื่น เช่น พื้นไม้ที่ผุพัง หรือมีตระใคร่ขึ้น ทางเดินบนสะพานที่แคบและไม่แข็งแรง และที่สำคัญคือการดื่มเหล้าจนมึนเมา กรมควบคุมโรค มีความเป็นห่วงในสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัยน้ำท่วม จึงขอเตือนภัยประชาชน และผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กหรือลูกหลาน ให้ระมัดระวังคำป้องกันอันตราย ระมัดระวังการเข้าใกล้แหล่งน้ำ หากมีเด็กในความดูแลให้ความดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา ป้องกันการพลัดตกจมน้ำซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยแนะนำประชาชนระวังป้องกันจากการจมน้ำดังนี้



1) ประชาชนที่ประสบอุทกภัย หรือประกอบอาชีพทางน้ำ เช่น หาปลา ต้องเข้าพื้นที่น้ำท่วม หรือต้องทำกิจกรรมทางน้ำ ขอให้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันการจมน้ำ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา ลูกมะพร้าว ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ช่วยให้ลอยตัวในน้ำได้ เพื่อป้องกันการจมน้ำ และไม่ควรออกประกอบอาชีพทางน้ำตามลำพัง

2) ไม่ควรลงเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วมและน้ำเชี่ยวไหลหลาก และผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

3) ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือไม่สามารถดูแลตนเองได้ เช่น โรคลมชัก เครียด ความดันต่ำ ต้องมีผู้ดูแล และไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพัง



หากพบคนจมน้ำควรมีวิธีช่วยที่ถูกต้อง คือ ตั้งสติอย่าวู่วาม ไม่ควรลงไปในน้ำเพื่อช่วยคนจมน้ำทันทีทันใด ควรหาอุปกรณ์ วัสดุ ที่หาง่ายและอยู่ใกล้ตัวที่ลอยน้ำได้ เช่น กิ่งไม้ ลูกมะพร้าวแห้ง เชือก ถังแกลลอนเปล่า ขวดน้ำดื่มพลาสติก ( ขนาด 1.5 ลิตรขึ้นไป ) กางเกง เสื้อ หรือผ้าขาวม้า โดยโยนหรือยื่นหลาย ๆ ชิ้นให้คนที่กำลังจะจมน้ำหรือให้ผู้ช่วยเหลือ แล้วจับแล้วดึงลากเข้าฝั่งโดยที่คนช่วยเหลืออยู่บนฝั่ง กรณีหากจำเป็นต้องจะลงน้ำไปช่วยเหลือ ต้องมั่นใจว่าว่ายน้ำเป็น และควรต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือนำติดตัวไปด้วยเพื่อยื่นให้คนจมน้ำจับแล้วลากเข้าฝั่ง ที่สำคัญไม่ควรสัมผัสคนจมน้ำโดยตรงเพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำไปพร้อมกัน



เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำต่อว่า เมื่อช่วยเหลือผู้จมน้ำได้แล้ว ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดดหรือวิ่งรอบไปมา หรือวางบนกระทะคว่ำเพื่อรีดเอาน้ำออก เนื่องจากเป็นวิธีที่ผิด เพราะน้ำที่ออกมาจะเป็นน้ำจากกระเพาะไม่ใช่จากปอด และจะทำให้ผู้จมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น อาจทำให้เสียชีวิตได้



กรณีที่เด็กจมน้ำไม่หายใจ วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้องคือ ช่วยด้วยการเป่าปาก โดยวางคนจมน้ำให้นอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปาก เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง และช่วยหายใจด้วยการเป่าลมเข้าออกตามจังหวะหายใจเข้าออก แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หากประชาชนพบเห็นผู้จมน้ำและช่วยเหลือด้วยตนเองไม่ได้ หรือไม่มีอุปกรณ์ ให้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือพบผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบริเวณนั้นๆ หรือโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด



ข้อความหลัก “ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคจากฤดูฝนได้ “



เฉพาะกิจเกาะติดการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อป้องกันควบคุมโรคจากภาวะน้ำท่วม ปี 2556 เขตภาคเหนือตอนล่าง ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/special/flood56.html



ฟังเพลงรณรงค์โรคจากฤดูฝนที่ https://soundcloud.com/prdpc9/cbo7hzkfwyra



Download ประกาศกรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคจากฤดูฝนที่http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/tranfers/guideline/2556/2556_06_06_rain.pdf



ดู Clip VDO คำแนะนำป้องกันโรคที่มาจากน้ำท่วมที่http://www.youtube.com/watch?v=fYcJFCanB5Y&feature=share&list=FLjDz8iLfwnqvbZAKinmemhg



ข่าวที่เกี่ยวข้อง “สคร.9 เตือนภัยพื้นที่น้ำท่วมขังเสี่ยงเสียชีวิตจากไฟดูดถึงร้อยละ 14 แนะตัวเปียก แช่น้ำ ต้องหยุดใช้ไฟฟ้า “ ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.520132108075693.1073742000.162933320462242&type=1    
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ


รายละเอียดภาพข่าวนี้


https://www.facebook.com/media/set/?set=a.520934477995456.1073742003.162933320462242&type=1
 
 
        

จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่


เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน

โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้

โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238

Email : dpc9phs@yahoo.com

ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น