วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 เผยคนไทยตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดพุ่ง 3 หมื่นต่อปี แนะแนวทางเพื่อหัวใจที่แข็งแรง


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยในการรับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีพิษณุโลก ว่า “โรคหัวใจและหลอดเลือด” เป็นนักฆ่าอันดับหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทำให้มีการเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 17.3 ล้านคนต่อปี คาดว่าอีก 2 ปีทั่วโลกจะมีการเสียชีวิตจากโรคนี้จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคนต่อปี โรคนี้เกิดขึ้นในหญิงและชายพอ ๆ กัน และร้อยละ 82 พบในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง




โรคนี้เป็นกลุ่มของความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งประกอบด้วย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคหัวใจรูห์มาติค โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และเลือดคั่งในหลอดเลือดดำส่วนลึกและภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด โรคนี้เกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญคือหัวใจ สมอง และที่อวัยวะส่วนปลายเช่นแขนขา มักเกิดในผู้ที่น้ำหนักตัวเกิน คนอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ในระยะแรกจะไม่มีอาการให้เห็น โรคจะค่อยๆ ก่อตัว จึงทำให้ผู้เป็นโรคจึงมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคแล้ว เมื่อไม่ได้ดูแลรักษาจึงทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น



โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทย พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 35,050 ราย หรือตาย 1 คน ทุกๆ 15 นาที มีผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 628,871 ราย แนวโน้มพบในคนอายุน้อยลง สาเหตุที่ทำให้คนไทยเป็นโรคนี้มาก เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการกินกับการออกแรง โดยกินอาหารรสเค็ม หวานและมันสูง แต่กินผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง รวมทั้งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่



ผลจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่มีปัจจัยเสี่ยง โรคหัวใจและหลอดเลือด ปี ปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ค่าความดันโลหิต ระดับไขมัน และระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น การสูบบุหรี่ การรับประทานผักและผลไม้ที่ไม่เพียงพอ น้ำหนักเกิน ภาวะอ้วน และขาดการมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย



เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ร้อยละ 80 แต่เมื่อป่วยเป็นโรคแล้วจะรักษายากมาก ปรับพฤติกรรมให้กินพอดี ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดเหล้า งดบุหรี่ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มีความสมดุล พอดี พอเพียง เพื่อสร้างสุขภาพดี ลดปัญหาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะพ่อบ้าน แม่บ้าน เป็นผู้เริ่มต้นในการปรับเปลี่ยน ตั้งแต่การทำกับข้าวกินเอง หรือการเลือกซื้อ ให้เพิ่มอาหารประเภทผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารรสหวาน มันเค็ม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปลอดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย มีวิถีชีวิตที่พอเพียง หากครอบครัวใดมีสมาชิกเป็นโรคแล้ว การปรับวิถีชีวิตข้างต้นยังช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีได้ ดังนั้นประชาชนควรเข้าใจความรุนแรงของโรค รู้วิธีการปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้สมดุล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สมดุลโดยเริ่มต้นที่ครอบครัวของตนเองและขยายไปยังชุมชน



ข้อความหลัก “คิดใหม่ กินอาหารควบคุม ออกกำลังกายพอเหมาะ เลือกแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อหัวใจที่แข็งแรง“



ฟังเพลงรณรงค์หัวใจขาดเลือดที่ https://soundcloud.com/prdpc9/h8arx999qolc



ดู Clip VDO สปอต์สั้นโรค " หัวใจขาดเลือด" ที่http://www.youtube.com/watch?v=mPcQe3d6_Yo



ดู Clip VDO สารคดีครอบครัวสุขภาพสู้โรคชุด " หัวใจขาดเลือด" ที่ http://www.youtube.com/watch?v=SSrTbjAF4Es



ข่าวที่เกี่ยวข้อง “ สธ. รณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก ปี 2556 ตามคำขวัญ “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี” หลังพบข้อมูลผู้เสียชีวิตล่าสุดเกือบ 4 พันราย “ ที่http://www.riskcomddc.com/th/news/mass-media-detail.php?id=18020







ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ



รายละเอียดภาพข่าวนี้ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.520150258073878.1073742001.162933320462242&type=1






        

จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่

เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน

โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้

โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238

Email : dpc9phs@yahoo.com

ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น