วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 หวั่นโรคตาแดงพุ่งช่วงน้ำท่วม เตือนประชาชนปฏิบัติ 8 วิธีป้องกันติดต่อโรค



  เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ฤดูฝนก่อให้เกิดความชื้นแฉะทั่วไปทำให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญได้ดี โรคติดต่อที่ส่วนใหญ่มักจะระบาดมากในช่วงหน้าฝนของทุกปีและช่วงที่เกิดน้ำท่วม คือโรคตาแดง โรคนี้พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เพศชายและหญิงพบได้เท่าๆกัน เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่โดยมากจะพบในเด็กเพราะมีภูมิคุ้มกันน้อย ร่วมกับการดูแลตนเองหรือการป้องกันการติดเชื้อไม่ดีพอ และมักเกิดในโรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน สถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โรคนี้มีสาเหตุมาจากเยื่อบุตาขาวที่คลุมหนังตาบนและล่างรวมเยื่อบุตาที่คลุมตาขาวอักเสบ เนื่องจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ภูมิแพ้ หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อดวงตา

การติดต่อของโรคตาแดง เกิดจาการสัมผัสใกล้ชิดขี้ตาหรือน้ำตาของผู้ป่วยโดยตรง การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วยที่เป็นพาหะนำโรค หรือแม้กระทั่งการไอ จาม หายใจรดกัน นอกจากนั้นอาจเกิดตาอักเสบเนื่องจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดล้างหน้า อาบน้ำ หรือถูกน้ำสกปรกที่มีเชื้อโรคกระเด็นเข้าตา หรือเกิดจากการใช้มือ แขน หรือเสื้อผ้าที่สกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา อาการของโรคตาแดงนั้น ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรงหลังจากได้รับเชื้อแล้วภายใน 2-14 วัน จะเกิดอาการเคืองตา คันตา มีอาการตาแดง น้ำตาไหล ขี้ตามาก เปลือกตา หรือหนังตาอาจบวมเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต เยื่อตาจะค่อยๆ แดงขึ้นเรื่อยๆ จนแดงก่ำ หรือตาขาวเป็นปื้นแดง คล้ายเส้นเลือดฝอยแตก บางรายอาจพบการบวมของเยื่อตาเป็นลักษณะบวมน้ำใส ๆ หากพลิกดูบริเวณเปลือกตาด้านในจะพบลักษณะเป็นเม็ดใสๆ กระจายอยู่ทั่วไป มักเริ่มจากตาข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปยังตาอีกข้างหนึ่งภายใน 2-3 วัน บางรายอาจมีการอักเสบของกระจกตาร่วมด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสลามไปที่กระจกตา หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและสายตามัวลงได้

โรคตาแดงเป็นโรคที่หายเองได้ ส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายใน 1-3 สัปดาห์ โดยไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ หากอาการไม่รุนแรง อาจใช้เพียงการประคบเย็น ร่วมกับหยอดน้ำตาเทียมช่วยหล่อลื่นในตา หากตาแดงมาก หรือมีการอักเสบที่กระจกตาจากเชื้อไวรัส แพทย์อาจแนะนำให้ยาหยอดยาเฉพาะตาข้างที่เป็น เพื่อลดอาการระคายเคืองตาและช่วยให้อาการเยื่อตาอักเสบหายเร็วขึ้น ในรายที่มีอาการเจ็บตา เคืองตา แพทย์อาจให้รับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย มีเพียงประมาณร้อยละ 20 - 50 ของผู้ป่วยที่เกิดจุดขาวๆ ที่กระจกตานานเป็นเดือน ซึ่งอาจทำให้สายตามัวลง หรือเห็นแสงรบกวน และมีน้อยรายที่โรคอาจรุนแรงจนเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งที่เยื่อตาได้
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า เนื่องจากโรคตาแดงติดต่อกันได้ง่ายมาก การป้องกันโรคตาแดงไม่ให้ระบาดในคนหมู่มาก ควรปฏิบัติดังนี้
1) ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
2) หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ห้ามใช้มือขยี้ตา
3) รักษาความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด
4) เมื่อเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคตาแดง ควรไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่แรก
5) ถ้าต้องออกไปนอกบ้าน ควรใส่แว่นตาเพื่อป้องกันลม และฝุ่นละออง
6) ผู้ป่วยควรนอนแยกจากสมาชิกในครอบครัว และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา และเครื่องนอนร่วมกันผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
7) ผู้ป่วยโรคตาแดง ควรหยุดงาน หรือหยุดเรียน พักรักษาตัวที่บ้าน เพื่อป้องกันมิให้โรคลุกลามหรือติดต่อสู่ชุมชน
8) ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่า แขนขาเป็นอัมพาต หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อรับการรักษา

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำว่า สิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคตาแดง คือ การป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายระยะการติดต่อจากตนเองไปสู่ผู้อื่น โดยให้หยุดพักเรียนหรือพักงานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ไม่อยู่ในที่ชุมชน ใช้กระดาษนุ่มซับน้ำตาหรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตาและบริเวณเปลือกตาแล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า เนื่องจากจะเก็บสะสมเชื้อไว้และติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองแสง ไม่ควรใช้ผ้าปิดตาเพราะจะยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น งดใส่คอนแทกต์เลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ พักผ่อนให้เต็มที่และพักการใช้สายตา สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่จับบริเวณใบหน้าและตา เนื่องจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยการสัมผัสมากที่สุด การล้างมือจะช่วยตัดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างดี

ข้อความหลัก " ไม่ขยี้ตา ล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้สอยสิ่งของร่วมกัน ป้องกันโรคตาแดง ”

เฉพาะกิจเกาะติดการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อป้องกันควบคุมโรคจากภาวะน้ำท่วม ปี 2556 เขตภาคเหนือตอนล่าง ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/special/flood56.html

ฟังเพลงรณรงค์โรคจากฤดูฝนที่ https://soundcloud.com/prdpc9/cbo7hzkfwyra

Download ประกาศกรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคจากฤดูฝนที่http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/tranfers/guideline/2556/2556_06_06_rain.pdf

ดู Clip VDO คำแนะนำป้องกันโรคที่มาจากน้ำท่วมที่http://www.youtube.com/watch?v=fYcJFCanB5Y&feature=share&list=FLjDz8iLfwnqvbZAKinmemhg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง “สคร.9 เตือนภัยพื้นที่น้ำท่วมขังเสี่ยงเสียชีวิตจากไฟดูดถึงร้อยละ 14 แนะตัวเปียก แช่น้ำ ต้องหยุดใช้ไฟฟ้า “ ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.520132108075693.1073742000.162933320462242&type=1


 
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

รายละเอียดภาพข่าวนี้ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.521066081315629.1073742004.162933320462242&type=1


        

จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น