เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ด้วยระยะนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และมักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ หากประชาชนดูแลรักษาอนามัยไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเด็กและผู้อ่อนแอ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ได้ เพราะโรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงการระบาดสูงสุดของโรคทุกปี โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ประเทศไทยได้ดำเนินการควบคุมโรคนี้มานานกว่า 50 ปี แต่อัตราการติดเชื้อโรคไข้เลือดออกในบางปียังสูงอยู่มากกว่า 100,000 ราย แม้บางปีจะลดลงในระดับหลักหมื่นแต่ยังนับว่าเป็นอัตราที่สูงอยู่ ในปี 2555 ที่ผ่านมาทั่วประเทศไทยก็ยังพบผู้ป่วย 78,075 ราย และเสียชีวิตมากถึง 81 ราย สำหรับในปี 2556 ขณะนี้มีการระบาดมากกว่าปีที่ผ่านมากกว่า 3 เท่าตัว
ปัจจัยส่งเสริมการแพร่ระบาดที่สำคัญคือในช่วงนี้คือ ในหลายพื้นที่มีฝนตกเป็นช่วงๆ หรือบางพื้นที่มีพายุฤดูร้อน ที่จะเติมน้ำฝนขังให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามธรรมชาติ เช่น น้ำตกค้างบนเศษวัสดุภาชนะต่างๆ ใบไม้ กาบไม้ จานรองกระถางต้นไม้ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ถังรองรับน้ำฝน โอ่งเก็บน้ำฝนไว้ใช้ ปัจจัยที่สนับสนุนการแพร่กระจายของโรคอีกอย่างหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายของประชากรเพื่อการประกอบอาชีพ การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว หากมีการติดเชื้อจากผู้ป่วยอาจจะขยายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ผู้ที่เดินทางไปในต่างถิ่นซึ่งอาจมีสถานการณ์การเกิดโรคอยู่โดยที่ไม่ทราบ ให้ระมัดระวังและป้องกันตัวเองจากการถูกยุงลายกัด
ปัญหาของโรคไข้เลือดออกไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคเขตร้อนชื้น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีปัญหาเช่นกัน ประเทศอาเซียน จึงมีมติร่วมกันกำหนดให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” ( ASEAN Dengue Day) เพื่อร่วมมือรณรงค์ไปด้วยกัน ในปีนี้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ว่า “อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก” (ASEAN Unity for Dengue-Free Community) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมพึงประสงค์ คือ การเก็บ มุ่งเน้นวิธีการป้องกันด้วยวิธีทางกายภาพที่ทำได้ด้วยตนเองโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะขังน้ำทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลาย
กรมควบคุมโรค ตระหนักว่าการสื่อสารแจ้งเตือนให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัย ป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมทั้งการร่วมมือของชุมชน และท้องถิ่น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนห่างไกลโรคและมีสุขภาพดี เร่งรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคกันอย่างจริงจัง ขอความร่วมร่วมมือให้ทุกบ้าน เอาใจใส่ เก็บ ฝัง ทำลาย หรือปิดให้มิดชิด เพื่อไม่ให้ยุงลายใช้เป็นที่วางไข่ขยายพันธุ์ได้ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีพฤติกรรม “ 3 เก็บ “ เป็นประจำ คือ
เก็บ 1 เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำแหล่งเพาะพันธุ์ยุง วัสดุเหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม เก็บแล้วรวย
เก็บ 2 เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งยุงลายไม่เกาะพัก ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์
เก็บ 3 เก็บน้ำ น้ำกินน้ำใช้เก็บให้มิดชิด โดยการปิดฝาโอ่ง ถัง ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่
และขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และผู้ประกอบการท่องเที่ยว รณรงค์จัดการกับสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีแหล่งเพาะพันพันธุ์ยุงลาย ตัดวงจรการเกิดยุงและการแพร่กระจายป้องกันควบคุมโรคด้วยวิธีปฏิบัติ “ 5 ป.+1 ข ปราบยุงลาย “ คือ
ป 1 ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
ป 2 เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วันที่ตรงกันทั้งชุมชน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
ป 3 ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่นปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่
ป 4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
ป 5 ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย
ข 1 ขัดล้างไข่ยุงลาย เพราะยุงลายจะไข่ตามผนังภาชนะขังน้ำ เหนือผิวน้ำประมาณ 1-2 ซม. ไข่ใหม่จะมีสีขาวนวล ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และดำ ลักษณะเป็นแพเรียงติดกัน หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วมถึง ก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้นได้นานเป็นปี และเมื่อมีน้ำมาท่วมถึงไข่เมื่อใด ไข่ก็พร้อมจะแตกตัวเป็นลูกน้ำภายในได้ใน 30 นาที และใช้เวลา 1-2 วันที่ฟักตัวเป็นลูกน้ำ ยุงตัวเมีย 1 ตัวจะไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง ใน 4-6 ครั้งในช่วงชีวิต 60 วันของยุง ดังนั้นยุงตัวเมียหนึ่งตัวจึงมีลูกได้ราว 500 ตัวทีเดียว
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำต่อว่า หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ให้ระลึกเสมอว่าฤดูฝนนี้เป็นช่วงของการระบาดของโรคไข้เลือดออก อย่านิ่งนอนใจจนไปพบแพทย์ช้าซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการหนัก รักษายากและอาจเสียชีวิตได้ และหากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422
ข้อความหลัก “มาตรการ 5 ป. 1 ข. เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก“
ฟังเพลงไข้เลือดออกที่ https://soundcloud.com/prdpc9/xzjxzwhrcoq1
ดู Clip VDO อธิบายมาตรการ กำจัดลูกน้ำยุงลาย แบบเข้าใจง่าย ๆ ที่ http://www.youtube.com/watch?v=lMDDbpUoVBg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง " แนะรุมตัดตอนวงจรชีวิตยุงฆาตกรไข้เลือดออกอย่าให้ลอยนวล ด้วย 5 ป. และขัดไข่ " ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2556/04_23_dhf.html
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมด https://www.facebook.com/media/set/?set=a.468618103227094.1073741911.162933320462242&type=1
จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น