วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สคร.9 เผยเด็กกว่า 3 พันคนต่อปี ได้รับสารพิษ แนะผู้ปกครองให้ล้างมือหลังเลิกงาน ลูกหลานปลอดภัย


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่าประชาชนจะใช้ชีวิตในการทำงานไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงมากมายรายล้อมรอบตัว ทุกอาชีพล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับสารเคมีจากการทำงาน ทั้งในโรงงาน โรงพยาบาล หรือในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีในกระบวนการผลิต เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม โครเมียม โลหะหนักต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของงานที่ทำ สารเคมีเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ๆ 3 ทาง คือ ปาก หายใจ และผิวหนัง ส่งผลให้ยังมีสารพิษบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ขณะทำงาน ซึ่งอาจแฝงเร้นด้วยพิษภัยที่มองไม่เห็น ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตนเองเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบไปยังสมาชิกบุตรหลานในครอบครัวด้วยเช่นกัน สารเคมีเหล่านี้ต่างก็เป็นสารพิษที่อาจจะทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า เจ็บป่วยหรือตายได้




ผลกระทบของสารเคมีต่อการพัฒนาสมองของเด็กนั้น เพราะร่างกายเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ 5 เท่า โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ขวบ โดยเด็กจะมีอาการเดินเซ อาเจียน ซึม เพ้อ หรือไม่สมอง จะพัฒนาช้ากว่าวัย พูดช้า ขาดความสามารถในการเรียนรู้ เมื่อถึงวัยเรียนความจำไม่ดี สมาธิสั้น เรียนหนังสือไม่ได้ ปัญญาอ่อน



ข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค พบว่า สถิติการเสียชีวิตของเด็กไทยอายุ 1-14 ปี ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบเด็กเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษเฉลี่ยปีละ 33 ราย ได้รับอันตรายรุนแรงเฉลี่ยปีละ 3,300 ราย โดยกลุ่มของเด็กเล็กอายุ 1-4 ปี เป็นกลุ่มที่ได้รับสารพิษมากที่สุด และบางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของผู้ปกครองล้วนๆ โดยเฉพาะการนำสารพิษที่ผู้ปกครองสัมผัสขณะทำงาน กลับบ้านไปสัมผัสให้เด็กๆ



จะเห็นได้ว่าการละเลยสุขภาพอนามัยในการทำงานส่งผลต่อเด็กโดยที่ไม่คาดคิด แต่ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถป้องกันได้ แค่ผู้ใหญ่ปฏิบัติตนด้วย 8วิธีง่าย ๆ เพื่อป้องกันการนำพิษภัยจากสารเคมีจากที่ทำงานกลับสู่บ้าน ดังนี้



1. ล้างมือด้วยสบู่ ทุกครั้งหลักเลิกงาน

2. อาบน้ำชำระล้างร่างกายก่อนกลับบ้าน

3. เปลี่ยนชุดทำงาน เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ฯลฯ เก็บไว้ที่ทำงาน

4. แยกซักชุดทำงานออกจากชุดอื่น ๆ

5. ดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล เช่น ตัดเล็บให้สั้น โกนหนวด ล้างหน้า

6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารในที่ทำงาน

7. หลีกเหลี่ยงไปนำเด็กไปยังที่ทำงาน

8. หากที่ทำงานกับบ้านเป็นสถานที่เดียวกัน ควรจัดเก็บเศษวัสดุ ชิ้นส่วน สารเคมีต่าง ๆ ให้พ้นมือเด็ก



เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า กลุ่มคนวัยทำงานที่มีโอกาสสัมผัสกับความเสี่ยง เช่น พนักงานจากโรงงานอุตสาหกรรม ควรล้างมือหลังเลิกงาน จะทำให้ไม่พกพาความเสี่ยงเหล่านั้นกลับบ้าน หรือหากเป็นไปได้ให้อาบน้ำชำระล้างร่างกายก่อนเล่นกับลูกหลาน เป็นการป้องกันควบคุมโรคและอันตราย รวมทั้งภัยสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น เพียงเท่านี้ลูกหลานก็จะปลอดโรค ปลอดภัย ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงมีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงรณรงค์ “ ล้างมือหลังเลิกงาน ลูกหลานปลอดภัย ” เพื่อสร้างความตระหนักให้กลุ่มคนวัยทำงานต่างๆ ที่เป็นผู้ปกครองของเด็กที่อาจสัมผัสสารเคมีอันตรายหรือสิ่งก่อโรคอื่นๆ ขณะทำงาน เพื่อให้ใช้โอกาสนี้ได้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ด้วยการทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะล้างมือ หลังเลิกงาน อันจะส่งผลให้สามารถลดและป้องกันการสัมผัสสารเคมีอันตรายหรือสิ่งก่อโรคของเด็กในบ้านได้



ข้อความหลัก “ ล้างมือหลังเลิกงาน ลูกหลานปลอดภัย ป้องกันโรคจากสิ่งแวดล้อม “



ดูข่าวที่เกี่ยวข้อง " เจาะวัยแรงงานจัดการรณรงค์สุดคึกเน้นป้องกันโรคและภัยจากการทำงาน " ที่https://www.facebook.com/media/set/?set=a.451439304944974.1073741879.162933320462242&type=1



ฟังพลงรณรงค์เพลงโรคจากการประกอบอาชีพ เสียงใส ๆ สนุกสนาน ได้สาระ เหมาะเตือนภัยประชาชน สำหรับเปิดในสถานีวิทยุ หรือหอกระจายข่าวชุมชน ที่https://soundcloud.com/prdpc9/wandmp5pi9iq



ดู Clip VDO แนะนำวิธีการล้างมือให้สะอาดที่http://youtu.be/lmDLwF2HsnE


ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมด https://www.facebook.com/media/set/?set=a.466707283418176.1073741905.162933320462242&type=1




จิดาภา รอดอยู่ / รายงาน / เผยแพร่

เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน

โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้

โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238

Email : dpc9phs@yahoo.com

ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น