เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวในรายการรักษ์สุขภาพ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที พิษณุโลก ว่า เนื่องจากขณะนี้ได้ย่างเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วง ๆ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำขังหรือถึงกับท่วมฉับพลันได้ตามจังหวัดต่างๆ จากการสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ หากประชาชนดูแลรักษาอนามัยไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้อ่อนแอ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว
กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่จะเกิดในฤดูฝน 5 กลุ่มโรค ดังนี้
1) โรคที่เกิดจากแมลงพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี
2) โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ ที่ขึ้นเองในป่า สวน ไร่ หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือพืชที่มีพิษต่างๆ เช่น ผักหวานพิษ ที่มักมีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นประจำทุกปีช่วงหน้าฝน
3) โรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ที่พบบ่อย เช่น โรคหวัดหวัดใหญ่ โรคคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก
4) โรคที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมและสัตว์พาหะ เช่น โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู ที่เชื้อปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก ที่ชื่นแฉะมีน้ำท่วมขัง
5) โรคหรือภัยที่มักเกิดร่วมกับภาวะอุทกภัย เช่น โรคทางอาหารโดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำท่วม ได้แก่ โรคท้องเดินหรือโรคอุจาระร่วง โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น โรคตาแดง ที่ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาด โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากเชื้อรา ที่ต้องลุยอยู่ในน้ำสกปรกนาน ๆ อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านช่วงที่มีน้ำท่วม อันตรายจากการจมน้ำ และไฟฟ้าดูดขณะร่างกายเปียกน้ำ
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าว แนะนำประชาชนในวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
1) อย่าให้ถูกยุงกัด โดยการ เก็บ ฝัง ทำลาย หรือปิดให้มิดชิด พร้อมกันทุกบ้าน ทุก 7 วัน ตัดจงจรการขยายพันธุ์ยุง
2) ถ้าเดินทางไปพักค้างแรมในป่า ต้องป้องกันตนเองให้ถูกยุงกัด เมื่อมีอาการไข้ภายหลังจากไปป่า บอกประวัติให้สถานพยาบาลทราบ เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียโดยเร็วที่สุด
3) รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกายพอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค
4) หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ หากมีไข้ไม่สูง หรือรู้สึกไม่สบาย ควรเช็คตัวลดไข้เป็นระยะ รับประทานยาลดไข้ และหากภายใน 2 วัน ไข้ไม่ลดหรืออาหารทรุดลงให้รีบพาผู้ป่วยไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน
5) รับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ
6) สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล หมั่นดูแลสุขอนามัยของสถานที่ และอุปกรณ์ให้สะอาดอยู่เสมอ
7) ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำ ใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง ใช้เครื่องป้องกันให้เป็นนิสัย เช่น การใช้รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสฉี่สัตว์ การควบคุมหนู โดยการทำลายและการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
8) รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง เช่น น้ำที่ต้มสุกแล้ว หรือน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารอื่น
9) ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
10) ถ่ายอุจจาระลงในสุขา และล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ในช่วงที่มีน้ำท่วม ห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง แต่ให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวจำนวนพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น นำใส่ถุงดำก่อนนำไปทิ้ง
11) อย่าใช้มือ แขน หรือ ผ้าที่สกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา และรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ถูกน้ำสกปรก
12) หากเจ็บป่วย หรือผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือ มีบาดแผล ให้รีบไปตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่เริ่ม ก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น
13) ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการถูกของมีคมและสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยการจัดและดูและบ้านเรือนให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษหรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันได้
14) การช่วยเหลือคนจมน้ำ ควรกระทำโดยผู้เคยผ่านการฝึกอบรมที่ถูกต้องเท่านั้น แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที
15) หลีกเลี่ยงการสัมผัสและใช้ไฟฟ้าขณะน้ำท่วมหรือขณะแช่ในน้ำ หากพบผู้ประสบภัยให้ช่วยเหลือโดยใช้วัตถุที่เป็นฉนวน เช่น ไม้ เชือก ผ้าที่แห้งสนิท ฉุดหรือผลักให้หลุดจากไฟดูด ตัดสวิตซ์ไฟฟ้า แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
ข้อความหลัก “ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคจากฤดูฝนได้ “
ฟังเพลงรณรงค์โรคจากฤดูฝนที่ https://soundcloud.com/prdpc9/cbo7hzkfwyra
Download ประกาศกรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคจากฤดูฝนที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/tranfers/guideline/2556/2556_06_06_rain.pdf
ดู Clip VDO คำแนะนำป้องกันโรคที่มาจากน้ำท่วมที่ http://www.youtube.com/watch?v=fYcJFCanB5Y&feature=share&list=FLjDz8iLfwnqvbZAKinmemhg
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมด https://www.facebook.com/media/set/?set=a.469297819825789.1073741912.162933320462242&type=1
จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น