วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 เผยคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละเกินครึ่งแสน เฉลี่ยวันละ 142 คน ชั่วโมงละ 6 คน

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยผ่านรายการสองแควยามเช้า ณ สถานีโทรทัศน์เอมเอสเอส เคเบิ้ลทีวี อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ว่าปัญหาการสูบบุหรี่นับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบระดับโลก การสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งผู้สูบและผู้อยู่ใกล้ชิด ก่อให้เกิดโรคที่ก่ออันตรายคุกคามต่อชีวิต สถิติพบว่าประชากรโลก 6 ล้านคน ตายด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ เพราะสารต่าง ๆ ในบุหรี่ทำให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งปอด ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด ถุงลมโป่งพอง เส้นโลหิตแดงแข็งตัวและตีบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งไต มะเร็งริมฝีปาก และมะเร็งหลอดลม ผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีโอกาสตายด้วยโรคมะเร็งมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 20 เท่า ที่สำคัญ 1 ใน 4 เป็นเด็กเล็กที่ตายเพราะได้รับควันบุหรี่มือสอง หากการควบคุมการบริโภคยาสูบไม่เข็มแข็ง จะมีการตายด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถึง 8 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า



วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2556 ในวันที่ 31 พฤษภาคม นี้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า " ไม่ใช้ ไม่รับ ไม่สนับสนุนโฆษณายาสูบร้าย ทำลายชีวิต" และตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ซองบุหรี่ทุกชนิดที่จำหน่ายในประเทศไทย จะต้องเพิ่มพื้นที่ติดภาพคำเตือนเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 บนซองบุหรี่ทั้ง 2 ข้าง

จากสถิติของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค พบว่าคนไทยที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้สูบบุหรี่ทุกชนิดรวม 13 ล้านคน อัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 20 เท่า มีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้นราว 2-3 แสนคนต่อปี และคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละประมาณ 52,000 คน เฉลี่ยวันละ 142 คน ชั่วโมงละ 6 คน โดยสูบบุหรี่จากโรงงานอย่างเดียวมากที่สุด 5.1 ล้านคน รองลงมาคือบุหรี่มวนเอง 4.7 ล้านคน ผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลมากกว่าในเขต 1.4 เท่า ที่น่าเป็นห่วงคือผลสำรวจยังพบว่ามีคนไทยที่สูดควันบุหรี่มือสองในตลาดสดหรือตลาดนัดมากที่สุดร้อยละ 68.8 ในบ้านร้อยละ 36 และที่ทำงานร้อยละ 30.5



รายงานผลการศึกษาการสูบบุหรี่กับสุขภาพหัวใจ ในกลุ่มตัวอย่าง 3,000 กว่าคน พบว่าผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มาไม่ต่ำกว่า 4 ปี จะลดความเสี่ยงกับโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ร้อยละ 54 ในแต่ละปีคนไทยเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่า 200,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 600 คน จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ชายที่เลิกสูบบุหรี่ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เลิกสูบมากที่สุดเพราะพบว่าไม่ดี เลยตัดสินใจเลิกเอง ร้อยละ 34.2 รองลงมา คือป่วยหรือเป็นโรค แล้วแพทย์แนะนำให้งดสูบบุหรี่ ร้อยละ 28.2 และสามี ภรรยา ลูก ขอร้อง ร้อยละ 14.8 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้หญิงเลิกสูบบุหรี่เพราะพบว่าไม่ดีเลยตัดสินใจเลิกเองมากที่สุด ร้อยละ 37.3



ในแต่ละปีคนไทยเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่า 200,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 600 คน จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ชายที่เลิกสูบบุหรี่ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เลิกสูบมากที่สุดเพราะพบว่าไม่ดี เลยตัดสินใจเลิกเอง ร้อยละ 34.2 รองลงมา คือป่วยหรือเป็นโรค แล้วแพทย์แนะนำให้งดสูบบุหรี่ ร้อยละ 28.2 และสามี ภรรยา ลูก ขอร้อง ร้อยละ 14.8 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้หญิงเลิกสูบบุหรี่เพราะพบว่าไม่ดีเลยตัดสินใจเลิกเองมากที่สุด ร้อยละ 37.3



เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า เทคนิคการเลิกบุหรี่นั้นขอผู้สูบอย่าคิดเรื่องการสูบบุหรี่ แต่ให้เปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่นเสีย เช่น ฟังเพลง ไปเดินเล่น หรือไปหาเพื่อนฝูง มีรายงานการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่จะไม่สามารถต้านทานความอยากสูบบุหรี่ได้ เมื่อดื่มเหล้าและสิ่งเสพย์ติดอื่น ๆ เพราะทำให้มีความอดทนต่อความอยากสูบบุหรี่ได้น้อยลง ดังนั้นขอให้หลีกเลี่ยงเหล้าและสิ่งเสพย์สัก 2 - 3 สัปดาห์ และร้อยละ 80 ของผู้ที่เลิกสูบบุหรี่จะเลิกได้ด้วยตัวเองได้สำเร็จส่วนใหญ่ใช้วิธีไม่สูบบุหรี่เลย (หักดิบ) แต่ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่โดยใช้วิธีค่อยๆลดจำนวนมวนที่สูบลงส่วนใหญ่จะไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่สามารถขอรับคำปรึกษาในการเลิกสูบบุหรี่ทางโทรศัพท์ได้ ที่เบอร์โทร.1600



ข้อความหลัก “ ไม่ใช้ ไม่รับ ไม่สนับสนุนโฆษณายาสูบร้าย ทำลายชีวิต จุดบุหรี่หนึ่งมวน เหมือนจุดชนวนสู่ความตาย “



ฟังเพลงรณรงค์เลิกสูบบุหรี ที่ https://soundcloud.com/prdpc9/stphkyazbono



สปอร์ตสู้โรคสั้น Clip VDO เชิญชวนเลิกบุหรี่ที่ http://www.youtube.com/watch?v=NUD2GfhANWw&feature=share&list=UUjDz8iLfwnqvbZAKinmemhg



สารคดีสู้โรคสั้น Clip VDO บุหรี่กับยาเส้นที่ http://www.youtube.com/watch?v=Dq7mjxmaZPY&feature=share&list=PLA7D4264010BCE1B2











ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ



รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมดที่ http://www.facebook.com/media/set/?set=a.463708733718031.1073741898.162933320462242&type=1









จิดาภา รอดอยู่ / รายงาน / เผยแพร่

เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน

โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้

โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238

Email : dpc9phs@yahoo.com

ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น