เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยในรายการบอกข่าวเล่าเรื่อง สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที พิษณุโลก ว่าในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักจะมีข่าวการป่วยและการเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ซึ่งมักจะได้รับรายงานมากในช่วงเริ่มต้นของฤดูฝน ซึ่งจะมีเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงมิถุนายน มักพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจะเกิดจากการรับประทานเห็ดธรรมชาติและเห็ดป่า โดยเฉพาะเห็ดที่ขึ้นตามภูเขา โดยที่เห็ดพิษมีหลายชนิดทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้
ในทุก ๆ ปี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก จะได้รับรายงานการป่วยเป็นกลุ่มก้อนและการเสียชีวิตจากเห็ดพิษมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงเริ่มฤดูฝน ในบริเวณพื้นที่ที่มีสภาพพื้นที่ของภูเขาเป็นส่วนใหญ่ และกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงอยู่ในช่วง 5 ถึง 14 ปี ผู้ที่รับประทานเห็ดพิษส่วนใหญ่จะมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ง่วงนอน ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้องอย่างรุนแรงหรือท้องเสีย บางรายที่มีร่างกายอ่อนแอหรือเป็นโรคภูมิแพ้ก็อาจจะเป็นอันตราย ถึงเสียชีวิตได้ เห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ในฤดูฝนมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดที่มีพิษ แยกได้ยาก เห็ดที่รับประทานไม่ได้เนื่องจากมีพิษ ได้แก่ เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ด และเห็ดอื่น ๆ อีกหลายชนิด ลักษณะของเห็ดที่ไม่ควรบริโภค ได้แก่ เห็ดที่เป็นสีน้ำตาล เห็ดที่มีหมวกเห็ดสีขาว เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมองหรืออานม้า เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์
จึงขอเตือนให้พี่น้องประชาชนระมัด ระวังอันตรายจากการรับประทานเห็ด ดังนี้
1.ให้เก็บแต่เห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์เท่านั้น หลีกเลี่ยงเห็ดที่อ่อนเกินไปซึ่งลักษณะต่างๆ ที่ใช้จำแนกชนิดยังไม่เจริญพอ หลีกเลี่ยงเก็บเห็ดที่แก่หรือเริ่มเน่าเปื่อย เพราะเห็ดดีๆ เมื่อแก่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีจนทำให้มีพิษอย่างอ่อนได้ เวลาเก็บให้แยกชนิดเป็นชั้น โดยนำกระดาษรองในตะกร้าเพื่อป้องกันการปนเปื้อนหากเก็บเห็ดพิษปะปนมาด้วย
2.อย่าเก็บเห็ดภายหลังพายุฝนใหม่ๆ ด้วยเห็ดบางชนิดที่สีด้านบนอาจถูกชะล้างให้จางลงได้ และอย่ารับประทานเห็ดที่สงสัยไม่รู้จักและไม่แน่ใจ ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจว่าปลอดภัยเท่านั้น ควรรู้จักและจดจำเห็ดพิษที่สำคัญซึ่งมีพิษรุนแรงถึงตายได้ แล้วหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดพิษเหล่านี้
3.ถ้าจำเป็นต้องรับประทานเห็ดที่ยังไม่แน่ใจ ควรชิมเพียงเล็กน้อยเพื่อดูอาการเสียก่อน ซึ่งถ้าเห็ดนั้นเป็นพิษก็จะแก้ไข ได้ง่ายขึ้น การรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยเห็ด ควรจะรับประทานแต่พอควร อย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
4.การปรุงอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ต้องระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออก เพราะเห็ดที่เน่าเสียจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน อย่ารับประทานเห็ดที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้นและเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตได้ในภายหลัง
5.ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง รับประทานเฉพาะเห็ดที่รับประทานได้โดยไม่แพ้ หรือหลีกเลี่ยงจากการรับประทานเห็ด
6.ระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา (แอลกอฮอล์) เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หากดื่มสุราเข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้ พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำต่อว่า อาการพิษของเห็ดจะแสดงอาการหลังกินหลายชั่วโมง ซึ่งพิษกระจายไปมากแล้ว จึงจำเป็นต้องรู้วิธีปฐมพยาบาลก่อนส่งแพทย์ด่วน ต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และดูดพิษโดยใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน ที่เรียกว่า Activated charcoal ให้ดื่ม 2 แก้ว แก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาก่อน แล้วดื่มแก้วที่ 2 ล้วงคอให้อาเจียนอีกครั้ง นำส่งแพทย์พร้อมตัวอย่างเห็ดหากเหลืออยู่ ห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนัก หากรับประทานเห็ดแล้วมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ หรือถ่ายเหลว ร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านทันที หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422
ข้อความหลัก “เห็ดพิษอันตรายถึงชีวิต สังเกตุและระวังสักนิดก่อนมาปรุงอาหาร “
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมดที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.459858187436419.1073741891.162933320462242&type=1
มณีวรรณ ปักษา / รายงาน
จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ รายงาน / ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค
รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น