วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555
แนะสงกรานต์ปลอดภัย เจ็บและตายเป็นศูนย์ได้ ต้องงดเมา เคร่งสวมหมวกกันน็อค ระวังถนนทางตรงและหมู่บ้าน ช่วงบ่ายถึงค่ำ
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่าวันสงกรานต์มีความสำคัญ คือ เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ทำบุญสร้างกุศลและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นวันครอบครัวรวมญาติและวันผู้สูงอายุ อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทยแสดงความกตัญญูกตเวทีระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ช่วงสงกรานต์ปี 2554 ที่ผ่านมาระยะ 7 วันอันตราย ( วันที่ 11-17 เมษายน 2554 ) ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่ามีผู้บาดเจ็บที่ต้องรับรักษาไว้ในโรงพยาบาล จากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศมากถึง 24,533 ราย นอนพักรักษาเป็นผู้ป่วยใน 3,476 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตรวม 271 ราย
สาเหตุหลักมากที่สุด 3 ลำดับแรก เกิดจากการเมาสุราร้อยละ 38.8 รองลงมาคือการขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 20.6 และมอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัยร้อยละ 15.7 ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตุว่าประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถมอเตอร์ไซค์ร้อยละ 81.1 ( พฤติกรรมเสี่ยงไม่สวมหมวกกันน็อคร้อยละ 32.6 ) รถปิคอัพร้อยละ 10.0 และรถเก๋งหรือรถแท็กซี่อีกร้อยละ 3.6 (พฤติกรรมเสี่ยงไม่คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 2.8 )
ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ มากที่สุดคือ ทางหลวงแผ่นดินร้อยละ 33.0 ถนนใน อบต. หรือหมู่บ้านร้อยละ 35.2 จุดเกิดเหตุมากที่สุด คือ ถนนทางตรงร้อยละ 57.8 ทางโค้งร้อยละ 21.0 และทางแยก ร้อยละ 12.8 ส่วนช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น.ร้อยละ 31.8 และช่วงเวลา 12.01-16.00 น. ร้อยละ 25.8 ช่วงอายุของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต คือ อายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 28.1 กลุ่มวัยแรงงาน ( อายุ 20 – 49 ปี ) ร้อยละ 53.8 ที่เหลือเป็นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร ส่วนคนไทยผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2 ล้านคน เฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ
รู้เตรียม งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ เหล้าปั่น สุราพื้นเมือง ก่อนขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมที่ขับขี่อยู่เสมอ รวมทั้งใส่เสื้อผ้าที่มีสีสว่างสดใสเพราะจะช่วยให้คนขับรถข้างเคียงเห็นได้ชัด และพกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ไปด้วยทุกครั้ง
รู้ระวัง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั้มหรือร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนร้านค้าที่มีได้รับใบอนุญาตสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะเวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น.เท่านั้น แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ ในส่วนประชาชนทั่วไปห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสวนสาธารณะของทางราชการ สถานที่ราชการ วัด สถานศึกษา
หากต้องขับขี่ยานพาหนะให้ชลอความเร็วให้ช้าลงในถนนทางตรง ถนนใน อบต. หมู่บ้าน หรือแหล่งชุมชน ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเวลาฝนตกหรือมีหมอกลงจัด หรือมีคนหรือสัตว์อยู่ในถนนหรือวิ่งตัดหน้า ระมัดระวังเป็นพิเศษช่วงเวลาบ่ายถึงค่ำ ทางแยกหรือออกจากซอย หลีกเลี่ยงการขับขี่ในระยะกระชั้นชิดกับยานพานะอื่น ๆ ดูกระจกส่องหลังและให้สัญญาณไฟทุกครั้งเมื่อต้องการเปลี่ยนช่องทางเดินรถ
รู้ป้องกัน สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับรถจักรยานยนต์ แต่งการด้วยเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ให้รัดกุม เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังถลอกหรือเป็นแผลได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง และต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอเมื่อขับรถยนต์
ข้อความหลัก " เที่ยว สนุกสุขใจไร้แอลกอฮอล์ ฉลองสงกรานต์ปลอดภัย เจ็บและตายเป็นศูนย์ ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/04_07_acci.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น