วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
เผยช่วงต้นหน้าร้อนโรคหัดออกผื่นระบาดพุ่ง เตือนระวังเด็กเล็กและผู้สูงอายุป่วยหนัก
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม จนถึงมีนาคม ของทุกปี จะช่วงเวลาเสี่ยงที่ โรคหัด หรือเรียกว่าไข้ออกผื่น มักเกิดการระบาดเพิ่มสูงมากขึ้น โรคนี้นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง ถ้าไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นได้ทุกอายุ แต่พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี แต่มักไม่พบในเด็กเล็กกว่า 8 เดือนเพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันจากแม่ โรคนี้ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้ เมื่อ 8 ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัดทั่วโลกถึงประมาณ 454,000 ราย
โรคนี้เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสเรียกว่ารูบีโอราไวรัส (rubeola virus) สามารถพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ช่องทางติดต่อของโรคนี้ คือ ทางลมหายใจจากการไอ จาม รดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ปนเปื้อนเชื้อลอยอยู่ในอากาศเข้าไป หรือการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคนี้เกือบทุกรายเพราะเชื้อนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก เชื้อเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดโรคได้ โรคหัดสามารถติดต่อกันได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนที่จะเริ่มมีผื่นขึ้น จนกระทั่งผื่นขึ้นไปได้ 4 วัน หลังจากนั้นไม่ใช่ระยะที่ติดต่อได้ง่ายอีกต่อไป ผู้ป่วยคนที่หนึ่งเป็นโรคหัด อีกประมาณ 8-12 วันก็จะพบผู้ป่วยที่ติดไวรัสหัดมาจากคนแรกอีก
อาการของโรคหัดจะคล้ายกับอาการของไข้หวัดธรรมดา คือ มีไข้ก่อนน้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางทราบเลยว่าเด็กเป็นหัดแล้ว จนเมื่ออาการเพิ่มขึ้น มีไข้สูง ตาแดงแฉะ กลัวแสง เวลาโดนจะแสบระคายเคืองตา ไอและมีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดง เด็กอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3 – 4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นคล้ายผื่นแพ้ยาลุกลามจากหลังหูไปยังหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ถ้าสังเกตจะพบก่อนวันที่เด็กจะมีผื่นออกตามลําตัวจะมีตุ่มเล็กๆ ในปากตรงกระพุ้งแก้มตรงฟันกรามบน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดเท่านั้ัน ผื่นจะมีขนาดโตขึ้นและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมดจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย ผื่นหัดมักจะไม่ค่อยคันหรือคันไม่มาก
การระบาดของโรคนี้มีเป็นครั้งคราวในชนบท กลุ่มเสี่ยงโรคนี้เป็นเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กในวัยเรียน และพบบ่อยในเด็กที่ไม่ีได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ขาดสารอาหาร สภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ หรือเด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ การป้องกันโรคนี้คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย วิธีที่ดีที่สุดคือให้วัคซีนป้องกันรวมโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม ที่เรียกว่าเอ็มเอ็มอาร์ ซึ่งเด็กทุกคนควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด คือฉืดวัคซีนในเด็กอายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นเมื่อเริ่มชั้นประถม 1 หรืออายุ 6 ขวบ
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำว่า สิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กที่เป็นโรคหัด คือ อาการแทรกซ้อนมากมายที่อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้บ่อยเพราะไวรัสหัดทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายของผู้ป่วยต่ำลง จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงตามมา เช่น ปอดบวม อจจาระร่วง วัณโรคกำเริบ สมองและหูชั้นกลางอักเสบ บางคนตับอักเสบ โดยเฉพาะผู้เสี่ยงสูงคือเด็กเล็กและผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนการดูแลรักษาโรคหัดควรไปตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรักษาตามอาการ นอนพัก ดื่มน้ำให้เพียงพอ ถ้าไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว
ข้อความหลัก " โรคหัดป้องกันได้ ให้ลูกหลานไปฉีดวัคซีน”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/2555_02_24_Measles.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น