วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หวั่นมหันตภัยเงียบช่วงปิดเทอม และวันหยุด เผยพบเด็กจมน้ำตายพุ่งสูงวันละ 6 ราย


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า องค์การอนามัยโลก รายงานว่าการตกน้ำ จมน้ำ จัดเป็นสาเหตุ 1 ใน 10 อันดับแรกการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ถึงปีละ 135,585 คน เฉลี่ยวันละ 372 คน ในประเทศไทยพบรายงานว่าเด็กเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำมากถึงปีละ 1,415 คน หรือวันละเกือบ 4 คน จึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ๆ ในทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ คือ มากกว่าอุบัติจราจรประมาณ 2 เท่าตัว มากกว่าไข้จากไวรัสที่นำโดยแมลง และไข้เลือดออกถึง 24 เท่าตัว จากการคาดประมาณในอีก 8 ปี ข้างหน้า ( พ.ศ. 2563 ) หากไม่ดำเนินมาตรการใด ๆ จะมีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 16,696 คน


เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 จึงพบว่าร้อยละ 41 ของเด็กที่จมน้ำจะเสียชีวิต หากเด็กสามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้จะช่วยป้องกันการจมน้ำได้มากกว่าเด็กที่ไม่สามารถว่ายน้ำได้ถึง 4 เท่าตัว เพศชายจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่าตัว และกลุ่มเด็กมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ คน เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องจึงมักกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่ตกน้ำ ช่วงที่มีการเกิดเหตุสูงสุด คือ วันหยุดสุดสัปดาห์ วันเสาร์ และ วันอาทิตย์ และช่วงเวลา 12.00 - 18.00 น.

โดยเฉพาะช่วงเดือน มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ซึ่งตรงกับช่วงปิดภาคเรียนและช่วงฤดูร้อน ถือเป็นช่วง 3 เดือนอันตราย ที่พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เฉลี่ยประมาณ 471 คนต่อปี หรือวันละ 6 คน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ และได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 และในปี 2555 นี้ ตรงกับ วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2555 ได้กำหนดแนวคิดการรณรงค์คือ “ สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย สร้างความปลอดภัยทางน้ำ ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีทักษะความปลอดภัยทางน้ำซึ่งจะเปรียบเสมือนเป็นภูมิคุ้มกันที่จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงการตกน้ำ จมน้ำ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ การทรงตัวไม่ดี ทำให้ล้มในท่าที่ศรีษะทิ่มลงได้ง่าย จึงมักพบเด็กจมน้ำสูงในแหล่งน้ำภายในบ้านหรือบริเวณรอบๆบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง บ่อน้ำ แอ่งน้ำ ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี เด็กจะเริ่มออกไปเล่นนอกบ้าน ประกอบกับเด็ก ผู้ดูแล และชุมชนไม่ตระหนักว่าแหล่งน้ำเป็นความเสี่ยงต่อเด็ก ดังนั้นแหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำสูงคือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คลอง บึง ฯ และแหล่งน้ำขุดเพื่อการเกษตรที่อยู่ใกล้บ้าน จากสถิติพบเด็กเสียชีวิตจาก แหล่งน้ำธรรมชาติ ร้อยละ 50 รองลงมา คือสระว่ายน้ำร้อยละ 5.4 และอ่างอาบน้ำร้อยละ 2.5

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำต่อว่า มาตรการป้องกัน คือ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตาแม้เพียงชั่วขณะ พร้อมจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีแหล่งน้ำที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากแหล่งน้ำ ห้ามไม่ให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง สอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น เพื่อรู้จักวิธีเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำและรู้จักวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง โดยแนะนำเด็กว่าเมื่อพบคนตกน้ำ จมน้ำ อย่ากระโดดลงไปช่วยเด็ดขาดแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น แต่ควรเรียกผู้ใหญ่ให้มาช่วย ควรโยนหรือยื่นอุปกรณ์ที่หาง่ายและอยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำ เช่น ถังแกลลอนเปล่า ขวดน้ำดื่มพลาสติกขนาดใหญ่ เชือก กิ่งไม้ หรือผ้าขาวม้า สอนให้เด็กรู้จักใช้ชูชีพเมื่อต้องโดยสารเรือ ควรมีการติดตั้งรั้วล้อมรอบ ป้ายคำเตือน หรือตะแกรงเหล็กปิดด้านบนของแหล่งน้ำเสี่ยง

ในส่วนการช่วยเหลือหลังจากช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ ขึ้นมาแล้ว รีบโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด และห้ามจับอุ้มพาดบ่า กระโดดหรือวิ่งรอบสนาม หรือวางบนกระทะคว่ำเพื่อเอาน้ำออก เพราะเป็นวิธีที่ผิด และจะทำให้ผู้ประสบภัยขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น กรณีที่เด็กไม่หายใจให้ช่วยโดยวิธีเป่าปาก และควรนำส่งสถานบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด

ข้อความหลัก " สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย สร้างความปลอดภัยทางน้ำ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/2555_02_27_drowing.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น