วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ย้ำเตือนประชาชนผู้ประสบอุทกภัยลุยน้ำ ย่ำโคลน เกิดแผล เสี่ยงโรครุนแรง
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการที่มีน้ำไหลหลาก ส่งผลให้บางพื้นที่ยังคงเกิดน้ำท่วมขังที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม จากเหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าวจึงพบประชาชนเจ็บป่วยแล้วจำนวนมาก โรคที่พบส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า บาดแผล และโรคอีกหลายชนิดซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่สำคัญบางโรคที่มาจากน้ำท่วม คือ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู จังหวัดที่มีความเสี่ยง คือ จังหวัดอื่นที่เกิดอุทกภัย โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในฉี่หนูหรือสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข สุกร โค กระเบือ รวมทั้งสัตว์ป่า และสัตว์ฟันแทะ โดยสัตว์เล่านี้จะขับเชื้อออกมาปะปนกับน้ำ และสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก ที่ชื่นแฉะมีน้ำท่วมขัง เมื่อประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ชาวนา ชาวไร่ คนงานโรงงานฆ่าสัตว์ ผู้ใช้แรงงานขุดลอกคูคลอง ผู้ประสบอุทกภัย และผู้ที่ไม่ได้ระมัดระวังตัว เดินย่ำน้ำหรือเล่นน้ำนาน ๆ เชื้อก่อโรคจะไชเข้าสู่ร่างกาย ทางบาดแผลบริเวณแขนขา รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก หรือทางผิวหนังที่เปื่อย ยุ่ย บางครั้งโรคนี้อาจติดเชื้อโดยการกินอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อที่หนูมาฉี่รดไว้ ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2 -29 วัน ส่วนมากประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา อาจมีอาการตาแดง คอแข็ง มักมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด อาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง ระยะท้ายอาจทำให้ตับและไตวาย ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น อีกโรคที่พบมากคือ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา สาเหตุมาจากการทำงานที่ต้องลุยอยู่ในน้ำสกปรกนาน ๆ ทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลม คัน ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองเยิ้ม เท้าเปื่อยและเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนัง เป็นขุย มีผื่นพุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถป้องกันตนเองโดย หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น ถ้ามีบาดแผลต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกน้ำโดยสวมรองเท้าบู๊ทยาง หากจำเป็นต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องรีบล้างล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งอยู่เสมอโดยเร็วที่สุด เมื่อถูกน้ำสกปรกให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อบชื้นเป็นเวลานาน ใช้เครื่องป้องกันให้เป็นนิสัยลดความเสี่ยงการติดโรค เช่น การใช้รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสฉี่สัตว์ การควบคุมหนูโดยการทำลายและการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม แต่หากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือ มีบาดแผล ปวดศีรษะฉับพลัน มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนตั้งแต่เริ่มเป็น เพื่อขอรับการรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่อาการเหล่านั้นจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น เพราะถ้าปล่อยไว้จนอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
โดยเฉพาะผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ควรดูแลเป็นพิเศษให้อยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ อยู่แล้วต่ำลงไปอีก กรณีฉุกเฉินสามารถโทรติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เบอร์ 1669
ข้อความหลัก " ลุยน้ำ ย่ำโคลน เกิดแผล อาจเสี่ยงโรคไข้ฉี่หนู ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_22_lep.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น