วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เผยไอเดียเฉียบใช้จานบินกินยุงดูแลบ้านเรือนแทนช่วงน้ำท่วม



นายกิตติ พุฒิกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า จากภาวะน้ำท่วมขังยาวนานในหลายพื้นที่นั้น จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์โรคในพื้นที่เขตอุทกภัย พบว่าโรคที่อาจจะเป็นปัญหาทางสาธารณสุข และประชาชนควรระมัดระวังโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาสำคัญหลังจากน้ำเริ่มลด โรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะ มักกัดคนในเวลากลางวัน ทำให้พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้ทุกภาคของประเทศไทย ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นต้นเหตุในการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก คือ ยุงที่อาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้านที่น้ำขังนิ่ง


ในภาวะน้ำท่วมผู้ประสบภัยหลายหมื่นคนต้องละทิ้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย เพื่อไปอยู่ตามศูนย์พักพิงชั่วคราว ทำให้บ้านไม่มีคนอยู่ดูแล บางแห่งที่มีภาชนะขังน้ำ เป็นแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีคนกำจัดหรือทำลาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนในช่วงน้ำท่วมนี้เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงขอเผยแพร่สิ่งประดิษฐ์ที่ทำไว้ คือ “ จานบินกินยุง “ ที่เป็นอุปกรณ์สามารถดักลูกน้ำและทำลายยุงลายได้อย่างต่อเนื่องทุกนาทีที่อุปกรณ์ลอยปริ่มน้ำ โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือสารเคมีใด ๆ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะวางอุปกรณ์ให้ลอยปริ่มน้ำในโอ่งหรือภาชนะขังน้ำที่ไม่มีคนอยู่บ้าน จานบินกินยุงดักลูกน้ำและทำลายลูกน้ำยุงลาย มีลักษณะและขั้นตอนการทำงาน คือ

1) มีลักษณะเป็นขันพลาสติกที่มีกรวยคว่ำซ่อนอยู่ภายในขัน โดยปากกรวยเป็นก้นขัน ปลายกรวยจะอยู่กลางขันต่ำกว่าระนาบขัน 1 ซ.ม. เมื่อจานบินลอยปริ่มน้ำส่วนของปลายกรวยจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 0.5-0.8 ซ.ม. ที่ขอบขันทรงกลมล้อมรอบด้วยทุ่นพยุงจานบินไม่ให้เอียงหรือคว่ำ ไม่ว่าน้ำจะกระเพื่อมรุนแรงแค่ใหน

2) ลูกน้ำยุงลายที่ปกติจะลอยอยู่ที่ผิวน้ำเมื่อลงไปกินอาหารใต้น้ำต้องว่ายขึ้นมาหายใจ เข้าทางก้นขันที่เป็นปากกรวยและมีความลาดเอียง ลูกน้ำจะถูกบังคับให้ว่ายเข้าสู่ขันออกที่ปลายกรวยท่ีอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำ 0.5-0.8 ซ.ม ลูกน้ำจะถูกขังอยู่ในจานบินออกไปไหนไม่ได้ เพราะมีตัวล๊อกไม่ให้เข้าออก อีก 7 วัน เมื่อลูกน้ำโตเป็นยุงลาย จะไม่สามารถบินออกจากจานบินได้เพราะมีฝาปิดอยู่ ดังนั้นลูกน้ำจะถูกดักและถูกทำลายอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่จานบินลอยปริ่มน้ำ โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า สารเคมี และคนที่ต้องคอยกำจัดลูกน้ำทุก 7 วัน จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้ในบ้านเรือนที่มีภาวะน้ำท่วมขังช่วงน้ำท่วมนี้

โรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโดยเฉพาะ อาการป่วยคือ จะมีไข้สูง (ไข้สูงตลอดวันทั้งวัน ) ประมาณ 2 – 7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาหารหน้าแดง อาจมีจุดแดง เล็ก ๆ ตามลำตัว แขน ขา มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะเริ่มลง ในระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะ อาจเกิดอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ หรือไอปนเลือด อาจมีภาวะช็อค และเสียชีวิตได้

หากตนเอง บุตรหลาน หรือคนในครอบครัวมีอาการดังกล่าวให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้ ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะจำทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่ บ่อย ๆ และควรรีบพาไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียงให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ขอให้ประชาชนร่วมมือกันกำจัดและป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ร่วมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง อย่ายอมให้ยุงเกิดมาได้ ผนึกกำลังร่วมกันทำทุกบ้าน ทุกชุมชน ทำไปต่อเนื่องจนเป็นนิสัย “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือกออก“ เริ่มต้นแต่วันนี้ก็จะช่วยให้ลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในลูกหลานและญาติมิตรของพวกเราทุกคนลงได้

ข้อความหลัก " เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_23_Trap.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น