วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กรมควบคุมโรค แนะไม่ควรแจกข้าวกล่องปรุงไว้นานกว่า 4ชั่วโมง ให้ผู้ประสบภัย เสี่ยงอาหารเป็นพิษ อุจาระร่วง


นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ได้รับรายงานการระบาดของโรคอุจจาระร่วง ในศูนย์อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม 2 แห่ง ขณะนี้ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ และหยุดการระบาดได้แล้วภายใน 24 ชั่วโมง สาเหตุมาจากการที่ผู้ประสบภัยรับประทานข้าวบูดจากข้าวกล่องที่มีผู้นำไปแจก โดยไม่รู้ว่าอาหารนั้นบูดหรือเสียแล้ว ทั้งนี้ได้แจ้งให้ผู้ที่นำอาหารไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ไม่ควรนำข้าวกล่องหรืออาหารที่ปรุงไว้ล่วงหน้านานกว่า 4 ชั่วโมงไปแจก เพราะอาจเป็นอาหารที่เสีย หรือมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ตั้งจุดเป็นครัวปรุงในพื้นที่ เพื่อให้ได้อาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ จะช่วยป้องกันอาหารเป็นพิษ ที่นำไปสู่การเกิดอุจจาระร่วง


นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งขณะนี้ คือ การจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมกว่า 300 คน พบว่า มีสาเหตุจากการจมน้ำมากถึง 85 % ส่วนใหญ่เกิดจากเมาแล้วพลัดตกน้ำ, ทอดแหหรือหาปลาแล้วเจอน้ำวน, กระโดดลงไปช่วยคนที่ตกน้ำและเด็กลงเล่นน้ำ จึงอยากเตือนสติผู้ประสบภัยว่าอย่าประมาท อย่าปล่อยให้เด็กลงไปเล่นน้ำ หรือผู้ใหญ่ไม่ควรทอดแหหรือจับปลา เพราะไม่รู้ว่าสภาพด้านล่างของน้ำที่ลงไปนั้น เป็นหลุมหรือมีน้ำวนหรือไม่ ส่วนกรณีเจอคนตกน้ำ ให้โยนเชือกให้เกาะแทนการลงไปช่วยด้วยตนเอง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า สำหรับโรคที่พบมากในศูนย์อพยพผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ และต้องเฝ้าระวังขณะนี้มี 4 โรคหลัก คือ โรคเท้าเปื่อยหรือเท้าอักเสบ ประชาชนที่เดินย่ำน้ำ ควรล้างด้วยน้ำสะอาด หากไม่มีจะต้องเช็ดเท้าให้แห้ง และทายาที่หน่วยแพทย์จากให้ทันที โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากมีผู้ป่วยเพียง 1 คน จะลามให้คนอื่นติดเชื้อและป่วยเป็นจำนวนมาก ผู้ที่มีอาการป่วยควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่น โรคตาแดง ผู้ป่วยควรแยกตัวเองออกจากผู้อื่น และโรคอุจจาระร่วง ซึ่งที่พบระบาดแล้วในศูนย์อพยพ 2 แห่ง

ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่น้ำเริ่มลด ไม่ควรชะล่าใจ เมื่อต้องเดินในพื้นที่ที่มีความเฉอะแฉะ ต้องใส่รองเท้าป้องกันเชื้อโรคฉี่หนู ซึ่งมักพบในช่วงหลังน้ำลด เมื่อขึ้นจากการลุยน้ำหรือพื้นที่เปียก ต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด และหากพบว่ามีอาการเป็นไข้ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่องให้รีบไปพบแพทย์ เพราะโรคฉี่หนูสามารรักษาให้หายขาดได้ หากพบแพทย์ทันท่วงที


ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ

สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_20_dia.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น