วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554
แนะผู้ประสบอุทกภัย ควรประยุกต์ใช้ของใกล้ตัว ทำส้วมฉุกเฉิน เพื่อป้องกันโรคระบาด
นายคุตตชาติ มีลือการ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ของหน่วยงาน ประเมินว่าขณะนี้สถานการณ์ภัยพิบัติจากอุทกภัยยังคงมีความรุนแรงอยู่ในบางพื้นที่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก จึงได้ดำเนินการจัดทีมสนับสนุนปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ( SRRT ) ทีมควบคุมโรคตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และทีมสื่อสารความเสี่ยง ลงพื้นที่จุดวิกฤติเหตุการณ์น้ำท่วมขังยาวนาน ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้การดูแลปัญหาด้านสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดโรคติดต่อ โดยเฉพาะเรื่องส้วม ที่ต้องจัดการอย่างถูกสุขลักษณะและมีให้เพียงพอ มิฉะนั้นจะส่งผลต่อการเกิดโรคระบาดต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย
นายคุตตชาติ กล่าวต่อว่า ส้วมที่เหมาะสมในพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อรองรับการขับถ่ายมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ ส้วมน็อกดาวน์หรือส้วมฉุกเฉิน และส้วมลอยน้ำ หากพื้นที่ใดส้วมน็อกดาวน์มีบริการไม่ทั่วถึง ประชาชนสามารถนำของใช้รอบตัวมาประดิษฐ์เป็นส้วมฉุกเฉินใช้เองในครอบครัวอย่างง่าย ๆ 2 แบบ คือ 1) แบบส้วมเก้าอี้ โดยใช้เก้าอี้พลาสติกมาขามาเจาะรูตรงกลางที่นั่ง จากนั้นใช้ถุงพลาสติกหรือถุงดำที่ซื้อหรือได้รับแจกสวมเข้ากับเก้าอี้ 2) แบบส้วมกล่อง โดยใช้กล่องกระดาษใส่ของ ลังเบียร์กระดาษ ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เจาะรูด้านบน จากนั้นใช้ถุงพลาสติกหรือถุงดำซื้อหรือได้รับแจกสวมรองรับของเสียจากร่างกาย ทำเป็นส้วมชั่วคราวได้ตามต้องการ หากเป็นเด็กเล็ก ก็อาจใช้กระดาษแข็งเจาะรูแล้วประกอบเข้ากับกล่องเพิ่มเติมเพื่อให้มีขนาดอย่างเหมาะสมกับร่างกายของเด็กได้ เมื่อถ่ายของเสียแล้วให้มัดปากถุงให้แน่น และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ควรทิ้งลงไปในน้ำ เนื่องจากอาจทำให้แพร่เชื้อโรคระบาดได้ง่าย
จึงขอย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ โรคอหิวาตกโรค โดยให้กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เสมอ ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ใช้ช้อนกลางตักอาหาร ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย ที่สำคัญต้องขับถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะอนามัย ไม่จำเป็นอย่าเดินลุยน้ำเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ แต่หากจำเป็นก็ต้องสวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ หากหารองเท้าบู๊ทไม่ได้ให้ใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่มาประยุกติ์ใช้ทำรองเท้ากันน้ำชั่วคราว โดยสวมถุงพลาสติกคลุมเท้าให้สูงเหนือเข่าหรือเหนือระดับน้ำท่วม สวมถุงเท้าทับถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง แล้วใช้เชือกมัดกระชับ ปิดปากถุงเหนือระดับน้ำเพื่อป้องกันน้ำเข้า และสวมรองเท้าหุ้มส้น เมื่อขึ้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง ต้องรีบล้างเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาดทันที และถ้ามีไข้สูงและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที
ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_04_toilet.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น