วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กรมควบคุมโรค เตือนโรคระบาดจากสัตว์ตายกรณีน้ำท่วม ห้ามนำสัตว์ตายมาบริโภคและหลีกเลี่ยงการลุยน้ำในพื้นที่ที่มีสัตว์ตาย



นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ถึงกรณีสัตว์ตายจากน้ำท่วมว่า สัตว์ที่ตายจากน้ำท่วม เช่น หมู ไก่ เป็ด วัว ควาย สุนัข เป็นต้น อาจมาจากการป่วยเป็นโรคตาย หรืออาจจมน้ำตาย การตายของสัตว์ทั้งสองกรณีสิ่งที่ตามมาจะเกิดการเน่าสลาย เป็นแหล่งของเชื้อโรค โดยเชื้อที่จะก่อให้เกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.Coli) เชื้อซาโมเนลร่า (salmonella) บางกรณีอาจพบเชื้อแบคทีเรีย สเตฟฟิโลค็อลคัส (staphylococcus) ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่ร่างกาย ทางอาหารและน้ำ และทางบาดแผล ทำให้เกิดโรคบิด ท้องร่วง และอาหารเป็นพิษได้ ถ้าเข้าทางบาดแผลจะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้นถ้ามีบาดแผลโดยเฉพาะที่ขาหรือเท้าจึงควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำในพื้นที่ที่มีซากสัตว์ตาย นอกจากนี้ยังแนะนำประชาชนไม่ควรนำสัตว์ที่ตายมารับประทานหรือชำแหละจำหน่าย ส่วนการรับประทานอาหารในภาวะน้ำท่วมเน้นการปรุงสุก ดูแลความสะอาดของผู้ที่ปรุงอาหาร สำหรับอาหารที่ได้รับจากการแจกควรรับประทานทันทีไม่ควรเก็บไว้เพราะจะเกิดการเน่าเสีย บูด ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย


สำหรับซากสัตว์ที่ตายควรกำจัดโดย ถ้าเป็นสัตว์ขนาดเล็กให้ใส่ถุงดำผูกปากถุงให้แน่น นำไปฝังหรือให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่นำไปกำจัด ถ้าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือกรมปศุสัตว์ หรือสาธารณสุข เพื่อมาเคลื่อนย้ายหรือกำจัดซากสัตว์ให้ถูกต้อง ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลจากความช่วยเหลือของทางราชการต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีซากสัตว์เน่า ห้ามใช้น้ำในบริเวณนั้น ให้หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสซากสัตว์โดยตรง สำหรับกรณีที่รู้ล่วงหน้าว่าน้ำจะท่วมให้รีบเคลื่อนย้ายสัตว์ ซึ่งต้องจัดที่อยู่ให้เหมาะสม โดยไม่อยู่ติดกับที่พักอาศัยของเจ้าของมากเกินไป

ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_10_05_food.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น