วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554
กรมควบคุมโรค เตือนภัยใกล้ตัว โรคหลอดเลือดสมอง ถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่ชาวบ้านรู้จักว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นับวันจะรุนแรงขึ้น ทั่วโลกมีรายงานเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ส่วนคนไทยพบการเสียชีวิตจากอัมพาตปีละ 13,353 คน เฉลี่ย 3 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ป่วยปีละ 130,000 คน อัตราป่วยสูงสุดที่ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง พบอัตราป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2573 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 16 ล้านคน ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี จึงเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาตในบั้นปลายชีวิต
โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้มีอาการของแขน ขาหรือหน้า ซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างทันทีทันใด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตีบตัน หรือแตก จนเกิดการทำลายหรือตายของเนื้อสมอง ทำให้สมองสูญเสียการควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกายอาการทีเกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและความรุนแรงขึ้นอยู่กับการทำลายเนื้อสมอง โรคนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.) โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน คือ มีการอุดตันของหลอดเลือดซึ่งอาจเกิดจากการที่มีก้อนเลือดจากหัวใจหรือก้อนไขมันจากหลอดเลือดที่คอมาอุดที่หลอดเลือดในสมอง หรืออาจเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ) ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ 2.) โรคหลอดเลือดสมองแตก โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงมานาน ทำให้เกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง และเกิดการแตกของหลอดเลือด ก้อนเลือดจะไปกดเนื้อสมอง ทำให้ขาดออกซิเจน ขาดอาหาร การรักษาของโรคนี้ทำได้ดังนี้คือ รักษาด้วยยา ด้วยการผ่าตัด ด้วยการฉายรังสี การทำกายภาพฟื้นฟู
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา โรคหัวใจ เช่น โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ดำเนินชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ขาดการเคลื่อนไหวขาดการออกกำลังกาย และภาวะเคียด ประชาชนสามารถสังเกตุอาการเริ่มต้น ได้ดังนี้คือ 1) ชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกที่หน้า หรือขา 2) เวียนศีรษะ หรือหมดสติ 3) ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน 4) พูดไม่ชัดหรือลิ้นแข็ง ตามัวหรือเห็นภาพซ้อน ถ้าตัวท่านหรือญาติพี่น้องพบเห็นผู้มีอาการข้างต้นอย่างน้อย 1 อาการ ให้รีบไปตรวจรักษาอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วนภายใย 3 ชั่วโมง จะได้ช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
เภสัชกรเชิดเกียรติ แนะนำต่อว่า ประชาชนทุกคนสามารถป้องกันการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพและลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด ได้แก่ 1) การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันอยู่แล้วให้ควบคุมความดันให้น้อยกว่า 120/90 มิลลิเมตรปรอท 2) สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ควบคุมระดับของน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด ( ก่อนรับประทานอาหารเช้าระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชม.ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ) 3) ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ 4) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ต่ำกว่า 30 นาทีต่อวัน 5) บริโภคอาหารให้พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย งดอาหารรสเค็ม รสหวาน และไขมันสูง 6) ควบคุมให้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม รอบเอวผู้ชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร 8) ทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่อนคลายเพื่อลดภาวะความเครียด 9) ตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
หากประชาชนทุกคนมีความรู้ หมั่นวัดความดันโลหิต ควบคุมน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดอาหารเค็ม หวาน ไขมันสูง ผ่อนคลายความเครียด ก็จะสามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ที่จะคุกคามชีวิตได้
ข้อความหลัก " คิดใหม่ กินอาหารควบคุม ออกกำลังกายพอเหมาะ ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_09_28_heart.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น