วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เผยผู้ป่วยเรื้อรัง 5 โรค 5 ล้านคนเสี่ยงโรคกำเริบจากผลกระทบน้ำท่วม



นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเมื่อ 27 ตุลาคม 2554 ว่า ในภาวะภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศไทย กรมควบคุมโรค ประมาณการมีผู้ป่วยเรื้อรัง 5 โรค ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์อัมพาต และโรคหอบหืด กว่า 5 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงมากที่โรคจะกำเริบ หรือรุนแรงมาก ได้แก่ 1) กลุ่มที่ขาดยาและควบคุมโรคไม่ได้ก่อนน้ำท่วม ซึ่งเข้าไปนอนรักษาในโรงพยาบาลบ่อย ๆ 2) กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งมีโรคประจำตัว ทำให้โรคเหล่านี้มีความรุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อัมพาตทันที ระบบหายใจล้มเหลว ภาวะวิกฤตความดันโลหิตสูง ภาวะวิกฤตเบาหวาน และโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย สาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาจากภาวะความเครียด การขาดความสามารถปรับจัดการโรคในภาวะวิกฤตด้วยตนเอง การขาดยา และความลำบากในการเข้าถึงบริการเมื่อจำเป็น เป็นต้น ดังนั้น


กรมควบคุมโรค ขอแนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังในพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 ข้อ ดังนี้

1) อพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย เพื่อได้รับความช่วยเหลือง่าย ควรไปอยู่กับญาติในพื้นที่น้ำไม่ท่วมมากกว่าอยู่ศูนย์พักพิง หากอยู่ที่ศูนย์พักพิงควรแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์พักพิงในกรณีที่ท่านมีโรคประจำตัว

2) ควรนำยาที่ใช้อยู่เป็นประจำติดตัวมาด้วย จัดเก็บยาในภาชนะที่เหมาะสม และรับประทายยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และพกบัตรประจำตัวผู้ป่วยหรือบัตรแสดงตัวที่มี เลขประจำตัว 13 หลัก ติดตัวตลอดเวลา

3) ควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสมและฝึกหายใจ คลายเครียด โดยหายใจเข้าลึกและผ่อนคลายลมหายใจออกช้าๆ ประมาณ 15 ครั้งต่อนาที ทำวันละ 3 ครั้งๆ ละ 10 นาที เช้า กลางวัน เย็น หลังอาหาร ครึ่งชั่วโมง

4) ให้ผู้ป่วย ญาติ สังเกตอาการเตือนของโรคที่จะนำไปสู่ภาวะวิกฤติของโรคอย่างต่อเนื่อง หากพบมีความผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์พักพิง

5) ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ญาติควรนำยาที่ใช้อยู่เป็นประจำติดตัวมาด้วย จัดเก็บยาในภาชนะที่เหมาะสม พร้อมดูแลให้รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และควรพลิกร่างกายผู้ป่วย อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง ตรวจดูการเกิดแผลกดทับอย่างสม่ำเสมอ และควรติดป้ายแสดงรายละเอียดไว้ให้กับผู้ป่วย โดยต้องมีรายละเอียดดังนี้ ชื่อผู้ป่วยและญาติที่สามารถติดต่อได้ โรคที่ป่วย และยาที่จำเป็นต้องใช้

6) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องการทำสาธารณประโยชน์ ไม่ควรหักโหม ควรทำกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น การบรรจุถุงยังชีพ การประกอบอาหาร หลีกเลี่ยงการบรรจุกระสอบทราย เป็นต้น

7) ผู้เป็นเบาหวาน ควรระวังการเกิดแผล โดยเฉพาะที่เท้า และใส่รองเท้าป้องกันน้ำเมื่อต้องลุยน้ำ

นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยหรือญาติควรตรวจสอบยาที่ตนเองรับประทานประจำอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ และต้องมียารับประทานอย่างน้อย 1-2 เดือน หากสุ่มเสี่ยงจะขาดยาควรติดต่อหน่วยพยาบาลก่อนยาหมด 4-5 วัน เพื่อให้เวลาในการประสานจัดหา และควรรู้จุดที่จะสามารถไปรับยาหรือประสานการรับยาเบื้องต้นได้ หากมีข้อสงสัยติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยพยาบาลในศูนย์พักพิงหรือที่ใกล้ที่สุด หรือศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 1422 และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยผู้ประสบภัยสาธารณสุข โทร. 1669


ข้อความหลัก " คิดใหม่ กินอาหารควบคุม ออกกำลังกายพอเหมาะ ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_29_chronic.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น