วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตะลึงทุก 6 วินาทีมีผู้เสียชีวิตจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 1 คน รวมทั่วโลกปีละ 6 ล้านคน



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อย องค์การอัมพาตโลก ( World Stroke Organization : WSO ) รายงานว่าทั่วโลกโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 5 ของประชากรอายุ 15 – 50 ปี และสาเหตุการตายอันดับ 2 ของผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 6 ล้านคน หรือในทุก 6 วินาที จะมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน


ในประเทศไทย จากสถิติกระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มการตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2552 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 176,382 คน หรือคิดเป็น 3 คนทุก 2 ชั่วโมง อัตราป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 277.67 ต่อประชากร 1 แสนคน โดยพบว่าภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร มีอัตราป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมักมีความพิการหลงเหลืออยู่ ไม่มากก็น้อย และต้องใช้ชีวิตอย่างพิการตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ มิใช่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติอีกด้วย ดั้งนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจ ทั้งต่อผู้ป่วยเอง ครอบครัวและประเทศชาติโดยรวม ประชาชนจึงควรดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง โดยการเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงของตนเองเมื่อเกิดอาการเตือนของการเกิดโรคอย่างต่อเนื่อง จะสามารถลดอัตราการตาย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดภาวะแทรกซ้อนของการเกิดโรค รวมทั้งลดความพิการของผู้ป่วย และภาระทางสังคมได้ ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมี 8 ปัจจัย คือ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ระดับคอลเลสเตอรอลในเลือดสูง ประวัติญาติสายตรงเคยเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนอาการเตือนที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง คือ สมองขาดเลือดชั่วคราว โดยอาจพบเพียงหนึ่งอาการหรือมากกว่า ดังนี้

1) การอ่อนแรงของหน้า เวลายิ้มพบว่ามุมปากข้างหนึ่งตก แขนหรือขาซีกเดียวยกไม่ขึ้น

2) มีปัญหาด้านการพูดแม้ประโยคง่าย ๆ พูดแล้วคนฟังไม่รู้เรื่อง สับสน พูดลำบาก

3) การมองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง

4) มีปัญหาด้านการเดิน มึนงง สูญเสียการสมดุลการเดิน

ถ้าผู้ใดมีอาการเหล่านี้ ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วนภายใน 3 ชั่วโมง จะได้ช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูร่างกายกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า การลดความเสี่ยงโรคนี้ไม่ใช่แค่ความตระหนักในการป้องกันตนเองเท่านั้น แต่ประชาชนควรมีความรู้ที่จำเป็นในการดูแล ป้องกันตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยแนะนำแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองอย่างง่าย 6 ข้อดังนี้

1) รับรู้ความเสี่ยงของตนเอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

2) มีกิจกรรมทางกายที่เคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

3) ควบคุมตนเองไม่ปล่อยให้อ้วน โดยการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

4) ลดหรือเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5) หลีกเลี่ยงการทดลองสูบบุหรี่ กรณีสูบอยู่แล้วให้หาทางในการเลิกสูบบุหรี และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง

6) เรียนรู้ สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและแนวทางการป้องกัน แก้ไข

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมและเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงทั้ง 8 สังเกตอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วอย่างเหมาะสม ได้รับการตรวจวินิจฉัยการักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ถูกต้อง จะช่วยลดอัตราการตายและความพิการลงได้ และ 1 คนที่เสียชีวิตใน 6 วินาทีจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นก็จะไม่ใช่คุณ



ข้อความหลัก " รู้เร็ว รู้ทัน ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_29_Stroke.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น