วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เตือนประชาชนฤดูฝนต่อด้วยหนาวให้ระวังบุตรหลานจากโรคปอดบวม


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคในเขตภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัดของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ประจำเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาพบอัตราป่วยด้วยโรคปอดบวม สูงเป็นอันดับ 4 จาก 5 โรคอันดับแรก ในฤดูฝนที่จะหมดไปและหลายพื้นที่เข้าสู่ฤดูหนาว และมีอากาศหนาวเย็น อาจทำให้เด็กเล็กป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่าย โรค "ปอดบวม" เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็กที่รุนแรงและมีปัญหามากที่สุด เด็กเล็กทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมเฉลี่ยปีละ 2 ล้านคน องค์การอนามัยโลกระบุทุกๆ นาทีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศกลุ่มสมาชิกฯเสียชีวิตจากโรคปอดบวมอย่างน้อย 1 คน สำหรับประเทศไทยโรคปอดบวมยังเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อทั้งหมด ในปี 2553 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยด้วยโรคปอดบวมถึง 75,626 คน และเสียชีวิตถึง 44 ราย


โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ส่วนมากเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอของคนเรา จึงมีโอกาสที่เชื้อชนิดนี้จะหลุดเข้าสู่ร่างกายได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถอยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไป เกิดได้กับคนทุกวัย และเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้ายอีกด้วย ซึ่งมักพบในผู้ที่อ่อนแอ มีความต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ทุกคนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงและน่าเป็นห่วง เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคปอด เบาหวาน และโรคเลือดซิกเคิลเซลล์,เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี, เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์, เด็กที่อยู่รวมตัวกันหนาแน่น รวมทั้งผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ

การติดต่อของโรคปอดบวม ติดต่อได้โดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศเข้าไป การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดบวมที่มีอาการไอ จาม ละอองน้ำมูก เสมหะ และหายใจรดกัน การสำลักสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสที่มีอยู่ในอากาศ เข้าไปในจมูก และลำคอ โดยเด็กๆ จะรับเชื้อโรคผ่านทางการหายใจเข้า-ออก ส่งผ่านไปตามอวัยวะสำคัญต่างๆ ของระบบหายใจ ตั้งแต่จมูก หลอดลม ลงไปที่ปอดตามลำดับ หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทำให้มีการติดเชื้อ เกิดการอักเสบบริเวณปอด เด็กผู้ประสบภัยน้ำท่วม หากมีการสำลักน้ำหรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอดก็มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้

อาการที่พบส่วนใหญ่ คือ มีไข้สูง ไอมาก หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจถี่หอบ หายใจลำบากหรือมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม เหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปาก ซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม หากมีไข้หนาวสั่นเกิน 3 วัน มีอาการไออย่างรุนแรง มีเสมหะปนเลือด ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที หากช้าจะมีอันตรายมากอาจเสียชีวิตได้

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนที่เหมาะสม เพราะโรคปอดบวมเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสหลายชนิด วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถครอบคลุมเชื้อหลายชนิดได้ แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมหลายเข็ม ก็ป้องกันโรคได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดการป่วยและการเสียชีวิตของโรคปอดบวมในเด็กได้ดีที่สุดคือ การส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ การเผยแพร่ความรู้ การป้องกัน เช่น สอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ ปิดปาก ปิดจมูก หรือใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ไอ หรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย การทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เน้นการเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยนมแม่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ส่งผ่านไปถึงลูกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

หากมีไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็คตัวเพื่อลดไข้ และกินยาลดไข้ร่วมด้วย ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุกอุ่นๆ บ่อยๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว และใส่เสื้อผ้าสะอาด ไม่เปียกชื้น ให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ที่สำคัญทุกคนควรดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะเป็นการป้องกันโรคภัยต่างๆ ในช่วงฤดูฝนนี้ได้เป็นอย่างดี หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขใกล้ที่สุด ตั้งแต่เริ่มอาการก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อน หรือกรณีฉุกเฉินสามารถโทรติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เบอร์ 1669


ข้อความหลัก " โรคปอดบวมอันตราย เด็กมีไข้ ไอหายใจถี่ หอบ รีบพาไปพบแพทย์ทันที ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_10_28_pneu.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น