วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เตือนภัยเงียบความดันโลหิตสูง ส่งผลคนไทยป่วยอัมพาต หัวใจวาย พุ่ง



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่าปี 2554 ประมาณการณ์ว่ามีคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดและเบาหวาน ที่ต้องการยา 7,700,000 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 160,000 ราย และเสียชีวิตถึง 36,000 ราย


ภาวะที่แรงดันที่แรงดันของเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดมีค่าสูงเกินปกติหรือมีค่ามากกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เป็นสภาวะที่ต้องการควบคุม แต่ถ้าวัดความดันโลหิต ได้ค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นไปถือมีภาวะความดันโลหิตสูงนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและอุดตันหรือหลอดเลือดแตก โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทย เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการเตือน ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ กรรมพันธุ์ เช่น มีพ่อ แม่ พี่น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง และอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงควบคุมได้ ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ไขมันในเลือดสูง ภาวะเบาหวาน ขาดการออกกำลังกาย อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เครียดเรื้อรัง สูบบุรี่ และดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

อาการเตือนของโรคความดันโลหิตสูง ส่วนมากจะไม่แสดงอาการเตือนแต่มักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาจากปัญหาอื่น มีบางรายที่อาจมีอาการเตือน เช่น ปวดมึนท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบๆ หากเป็นมานานหรือความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา เมื่อเกิดอาการผิดปกติ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะของร่างกาย คือ ต่อหัวใจ อาจเกิดหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งขึ้นทำให้เกิดหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลว ต่อสมอง อาจเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือแตกได้ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือเสียชีวิตทันที ต่อไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่การคั่งของสารพิษในร่างกาย อาจถึงตายได้ ต่อตา อาจเกิดเลือดออกที่ตา ตามัวจนถึงตาบอดได้ ต่อหลอดเลือด อาจทำให้หลอดเลือดตีบแคบ หรือโป่งพอง มีผลให้เลือดไปเลี้ยงแขนขา และอวัยวะภายใยน้อยลงจนเดินไม่ได้ไกล เพราะปวดขาจากการขาดเลือด

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำว่า การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ให้แก้ไขเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารโดยเฉพาะควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ชิมอาหารก่อนรับประทาน ฝึกการรับประทานอาหารที่มีรสชาติพอเหมาะไม่เค็ม หากซื้ออาหารกระป๋อง ผักดอง และอาหารสำเร็จรูป ควรอ่านฉลากอาหารทุกครั้งและเลือกชนิดที่มีเกลือโซเดียมต่ำหรือน้อย ลดการใช้น้ำปลา เกลือเครื่องปรุงรส (โดยปกติควรบริโภคเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ) หันมาใช้เครื่องเทศแทนและสมุนไพรแทน เช่น หัวหอม กระเทียม ขิง พริกไทย มะนาว งดบริโภคอาหารมักดอง ขนมกรุบกรอบ ไม่วางเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น น้ำปลา ซอส ซีอิ้วขาว ไว้บนโต๊ะอาหาร เลือกซื้อผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่สดใหม่มาปรุงอาหารรับประทานเอง เพิ่มปริมาณการกินผักและผลไม้ไม่หวานให้มากขึ้น ออกกำลังกายประมาณวันละ 30 นาทีขึ้นไป 5 วันต่อสัปดาห์ หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างกระชับกระเฉง ทำจิตใจให้สบาย ควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 120/80 มิลลลิเมตรปรอท ลดหรือเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานที่มีควันบุหรี่ สังเกตอาการเตือนต่าง ๆ ในคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพโดยการวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อจะได้ทราบค่าความดันโลหิตของตัวเอง หากประชาชนทุกคนมีความรู้ หมั่นวัดความดันโลหิต และสามารถควบคุมป้องกันความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ตลอดเวลาก็จะสามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต อัมพาต ที่จะคุกคามชีวิตได้

ข้อความหลัก "คิดใหม่ กินอาหารควบคุม ออกกำลังกายทุกวัน ป้องกันความดันสูงได้ ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_09_21_HT.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น