วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554
ออกกำลังกายน้อย กินหวาน เค็ม มัน น้ำหนักเกินอาจเสี่ยงโรคเบาหวาน
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า คนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 70-110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอยู่เป็นเวลานาน จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท
ปัจจุบันประเทศไทยผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคเบาหวานมากถึง 2.4 ล้านคน โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากปริมาณของฮอร์โมนอินซูลินที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อน ไม่สมดุลกับอาหารแป้งและน้ำตาลที่รับประทานเข้าไป เป็นความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้ได้อย่างเต็มที่ สาเหตุเนื่องจากร่างการมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินน้อยมาก หรือขาดฮอร์โมนอินซูลินโดนสิ้นเชิง พบประมาณร้อยละ 5 - 10 อีกสาเหตุที่สำคัญคือร่างกายไม่สามารถใช้ฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน พบประมาณร้อยละ 90 - 95 สำหรับเบาหวานชนิดอื่นๆ ที่อาจพบจำนวนน้อย ได้แก่ เบาหวานที่เกิดในขณะตั้งครรภ์ หรือเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุเฉพาะเจาะจง เช่น ความบกพร่องทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน ความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักเด็กแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม ร่างกายจะใช้น้ำตาลที่ได้มาจากอาหารให้เป็นพลังงานภายในเซลล์
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ ความอ้วน ความดันโรคหิตสูง ความผิดปกติของไขมันในเลือด การขาดการออกกำลังกาย และจากการใช้ยาบางชนิด อาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ อาการปัสสาวะบ่อย และอาจพบว่าปัสสาวะมีมดตอม หิวน้ำบ่อยเนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ กินเก่ง หิวเก่ง แต่น้ำหนักจะลดลง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาล จึงใช้พลังงานจากการสลายไขมัน และโปรตีนจากกล้ามเนื้อ คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดนเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว ชาไม่มีความรู้สึก หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากมีน้ำตาลสูงนานๆ ทำให้เส้นประสาทเสื่อมเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย
ส่วนการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคเบาหวานนั้น ควรทำดังนี้ 1) เลือกรับประทานอาหารที่มีความหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความสมดุลของสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ชิมก่อนเติมเครื่องปรุง เลือกอาหารที่รสไม่จัด ลดอาหารที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวานและขนมกรุบกรอบ ลดอาหารเค็ม มัน เช่น ของทอด ของมัน ขาหมู หมูสามชั้น อาหารหรือขนมที่ใส่กะทิ ปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ยำ และผัดที่ไม่มัน แทนการทอด เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่รสไม่หวาน เช่น ส้ม กล้วย แอปเปิ้ล 2) เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่จากผู้อื่น ลดหรือเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ 3) ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เดินให้มากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายให้กระฉับกระเฉง 4) ควบคุมให้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม รอบเอวชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร 5) ดูแลจิตใจและอารมณ์ ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายความเคียด ควบคุมอารมณ์ 6) ในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรรับไปรับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง 7) ควบคุมไม่ให้ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะให้เป็นปกติได้ หากป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้วผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ แต่ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจโรคนี้ และร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสุขภาพตนเองเพื่อทำให้การเจ็บป่วยจากโรคอื่นน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายคงอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ได้นานเท่าคนปกติได้
ข้อความหลัก "คิดใหม่ กินอาหารควบคุม ออกกำลังกายทุกวัน
ตรวจน้ำตาลทุก 3 ปี ป้องกันเบาหวานได้ ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_09_20_dm.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น