วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554
หวั่นประชาชนเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงขณะน้ำท่วม แนะวิธีง่ายป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลจากอุบัติเหตุ
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประชาชนหลายจังหวัดของประเทศไทย กำลังประสบปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนติดต่อกัน กรมควบคุมโรค จึงมีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชนประสบภัยน้ำท่วม ที่อาจมีอุบัติเหตุต่างๆ จนทำให้เกิดบาดแผลตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย การไม่ดูแลรักษาบาดแผลให้ถูกต้อง อาจทำให้มีการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประชาชนควรมีความรู้การดูแลบาดแผลเบื้องต้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ให้ลุกลามมากขึ้น
ลักษณะของบาดแผลมีทั้งบาดแผลเปิดและบาดแผลปิด บาดแผลปิด หมายถึง บาดแผลที่ไม่มีรอยแยกของผิวหนังปรากฎให้เห็น เกิดจากการที่ร่างกายกระแทกกับของแข็ง และมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง มองเห็นเป็นรอยฟกช้ำ บวม ส่วนบาดแผลเปิด หมายถึง บาดแผลที่ทำให้เกิดรอยแยกหรือการฉีกขาดของผิวหนังและเนื้อเยื่อ เช่น ของมีคมบาดผิวหนึง การทิ่มตำจากของแหลมที่เดินย่ำน้ำหรือโคลน ฯลฯ การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดบาดแผลปิด คือ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ต้องประคบด้วยความเย็น เอาน้ำแข็งห่อด้วยผ้าสะอาดประคบไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อไม่ให้มีเลือดออกใต้ผิวหนังมากขึ้น ลดอาการบวม และระงับอาการปวด หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว ต้องประคบด้วยความร้อน และทายาขี้ผึ้ง ยาหม่อง ปาล์ม หรือทายา บาดแผลฟกช้ำ เพื่อละลายลิ่มเลือดใต้ผิวหนัง
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดบาดแผลเปิดนั้น คือ ผู้ทำแผลต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนและหลังทำความสะอาดแผล จากนั้นใช้น้ำสะอาดและสบู่ล้างแผลเพื่อล้างสิ่งสกปรกและสิ่งแปลกปลอมออกจากแผลแล้วจึงใช้ผ้าสะอาดซับแผลให้แห้ง ใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณรอบๆ แผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน ใช้ผ้าก๊อตปิดแผลไว้ ยกเว้นถ้าเป็นแผลถลอกไม่มากไม่ต้องปิดแผล บาดแผลที่มีการฉีกขาดมากหรือเป็นแผลลึกมากและมีเลือดไหล ให้ใช้ผ้าสะอาดกดบริเวณที่เลือดไหลจนเลือดหยุดไหลแล้วรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ถ้าบาดแผลสกปรกควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หากมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นหนอง ปวดมาก แผลบวมมากขึ้น เลือดซึมมาก มีไข้เฉียบพลันต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันเชื้อลุกลามจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ที่สำคัญประชาชนควรดูแลตนเองและบุตรหลานหลีกเลี่ยงการทำให้แผลเปียกน้ำ ผู้ที่มีแผลที่บริเวณเท้าหรือขาไม่ควรเดินย้ำน้ำเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ ถ้าจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ หากหารองเท้าบู๊ทไม่ได้ให้ใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่มาประยุกติ์ใช้ทำรองเท้ากันน้ำชั่วคราว โดยสวมถุงพลาสติกทั้ง 2 เท้าให้สูงเหนือเข่าหรือเหนือระดับน้ำท่วม จากนั้นสวมถุงเท้าทับถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับไล่ลมออกจากถุงพลาสติกเพื่อให้ถุงแนบกับเท้าหรือขามากที่สุด แล้วใช้เชือกมัดกระชับปิดปากถุงเหนือระดับน้ำเพื่อป้องกันน้ำเข้า และขั้นสุดท้ายสวมรองเท้าหุ้มส้น แต่ก็ไม่ควรใส่แบบนี้ตลอดทั้งวัน เมื่อกลับเข้าบ้านที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง ควรล้างเท้าให้สะอาด ฟอกสบู่ให้ทั่ว และเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
ข้อความหลัก " ลุยน้ำ ย่ำโคลน เกิดแผล อาจเสี่ยงติดเชื้อโรครุนแรง ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_09_16_scar.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น