วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

กรมควบคุมโรค สังเคราะห์รูปแบบบริการให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มเข้าถึงยาก



นางสาวลีซ่า กันทะมาลา นักจิตวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการสังเคราะห์รูปแบบการส่งเสริมการเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเข้าถึงยาก ( ชื่อโครงการ MPVCT ) เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2554 ณ โรงแรมตะวันนารามาดา กรุงเทพ ฯ โดยมีผู้เข้าประชุมจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 แห่งทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนและสังเคราะห์รูปแบบการส่งเสริมการเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเข้าถึงยาก ที่อยู่นอกสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ และกลุ่มที่เข้าถึงยาก รวมทั้งพัฒนาความสามารถทางด้านเทคนิคแก่บุคคลากรผู้ให้บริการในสหสาขาวิชาทางการแพทย์และสังคม


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการนี้ เป็นการส่งเสริมการค้นหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ ในกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่นอกสิทธิระบบประกันสุขภาพต่างๆ ให้ครอบคลุมและทั่วถึง เช่น กลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย ต่างด้าว แรงงานต่างด้าว ทั้งที่มีบัตรและไม่มีบัตรประกันสุขภาพ พม่า ลาว และกลุ่มที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้วยสาเหตุต่าง ๆ จากถิ่นที่อยู่ การประกอบอาชีพ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ( แม้ว ม้ง กระเหรี่ยง มูเซอ ไทยใหญ่ ) กลุ่มชาวเขาที่ไม่มีบัตร ฯ ต่างด้าวไม่มีบัตรหรือไม่ได้ขึ้นทะเบียน กลุ่มที่ทำงานในโรงงานเป็นช่วงเวลา กลุ่มที่หนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในข่ายกักกัน กลุ่มที่เข้า ออก ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เช่น อาชีพขายบริการทางเพศ โดยกรมควบคุมโรค ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวน 46 แห่ง ในเขตภาคเหนือตอนล่างมีเข้าร่วมโครงการ 5 แห่งคือ โรงพยาบาลแม่สอด โรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลอุ้มผาง โรงพยาบาลพบพระ จังหวัดตาก และโรงพยาบาลบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพบว่าประชากรกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ในปี 2553-2554 มีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการจำนวนทั้งสิ้น 2,244 ราย การตรวจพบผลเลือดติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 119 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.30 รวมทั้งมีการพัฒนาระบบบริการให้คำปรึกษาในกลุ่มนี้ ที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายเกิดเครือข่ายการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในอนาคตจึงควรขยายบริการจุดให้คำปรึกษาในหน่วยบริการให้มากประโยชน์ในการป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายไปสู่คนไทย และลดผู้ติดเชื้อเอดส์รายใหม่

ข้อความหลัก " ไม่ใช้เข็มร่วมกัน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง หยุดยั้งโรคเอดส์ ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_09_16_MPVCT.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น