วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนะผู้ประสบอุทกภัย ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ ล้างและเช็ดเท้าให้สะอาด ป้องกันโรคน้ำกัดเท้า



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ประสบภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอุทกภัย ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก จึงได้นำคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วมติดตามและประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้ประสบภัยภาวะฉุกเฉินน้ำท่วม ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสำโรง อำเภอสวรรคโลก ในเขตจังหวัดสุโขทัย โดยได้จัดทำและให้การสนับสนุนสื่อเอกสารแผ่นพับความรู้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ 12 แบบ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนเวชภัณฑ์ยา เพื่อการป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากน้ำท่วม


จากสภาวะน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้น ผู้ประสบอุทกภัยยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอนามัยหลายด้าน เพราะกระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค แพร่กระจาย แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ทำให้สัตว์ แมลง หนีน้ำออกจากถิ่นที่อยู่ประจำสู่พื้นที่ประชาชนอยู่อาศัย ในขณะเดียวกันอากาศเปลี่ยนแปลง ร้อนสลับฝนตก ส่งผลพาหะนำโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดี ปริมาณเชื้อก่อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร โรคท้องร่วงจากอาหารเป็นพิษ โรคเล็บโตสไปโรสิส (หรือโรคฉี่หนู) โรคผิวหนังจากการสัมผัสกับสารเคมีสิ่งสกปรก อีกทั้งสภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออกจึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วม

ประชาชนที่ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่เป็น โรคน้ำกัดเท้า โรคนี้เกิดจากเชื้อรา มีสาเหตุมาจากการแช่เท้าในน้ำที่มีเชื้อโรค เช่น ขยะมูลฝอยปะปนอยู่ ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ผัวหนังแดง รอบๆ เป็นขอบนูนวงกลม คัน ถ้าเกาจะเป็นแผล มีน้ำเหลืองเยิ้ม และถ้าเป็นมากแผลจะอักเสบ บวม มีหนองหรือเป็นฝี มีอาการเจ็บปวด เดินไม่ไหว ไข่ดันบวม และมีไข้ ในระยะแรกที่มีอาการ เท้ายังไม่เป็นเชื้อรา เป็นแค่เท้าเปื่อย และมีเชื้อหนอง เชื้อราจะเกิดเมื่อเท้าอับชื้นเป็นเวลานาน เช่น ใส่รองเท้าที่อบหรือชื้นแฉะทั้งวันเดินย่ำน้ำ แช่เท้าอยู่ในน้ำเป็นเวลานานและไม่เช็คเท้าให้แห้ง

เภสัชกรเชิดเกียรติ แนะนำการปฏิบัติตัวว่า ถ้าจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ หากน้ำล้นเข้าไปในรองเท้าบู๊ท ให้ถอดแล้วเทน้ำในรองเท้าออกเป็นคราว ๆ ไม่ควรแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา หลังจากการเดินย่ำน้ำทุกครั้ง ต้องล้างเท้าให้สะอาด ฟอกสบู่ให้ทั่ว และใช้ผ้าสะอาดเช็คให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า แต่หากมีบาดแผล ให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ครอบบาดแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์เบตาดีน ส่วนการป้องกันนั้น ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำสกปรกหรือแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน ๆ ไม่ควรใส่รองเท้าที่อบทั้งวัน และไม่ใส่รองเท้าที่เปียกชื้น เมื่อกลับเข้าบ้านทุกครั้ง ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็คให้แห้งด้วยผ้าสะอาด

ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_08_25_prflood.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น