วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554
กรมควบคุมโรค เผยไข้เลือดออกปีนี้เสียชีวิตแล้ว 28 ราย ยอดผู้ป่วยทะลุ 4 หมื่น แนะหากมีไข้สูง จุดเลือดออกตามตัว พบแพทย์ทันที
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยแล้ว ของสำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ( ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 สิงหาคม 2554 ) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 40,509 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 63.77 ต่อประชากรแสนคน และสัปดาห์ที่ที่ผ่านมาเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ในจังหวัดพิจิตร รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น จำนวน 28 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 0.04 ต่อประชากรแสนคน เมื่อแยกเป็นรายภาคที่มีการระบาดมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง จำนวน 20,086 ราย รอลงมากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8,823 ราย ภาคเหนือ จำนวน 8,211 ราย และภาคใต้ จำนวน 3,389 ราย ตามลำดับ สำหรับกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ก็ยังเป็นกลุ่มอายุตั้งแต่ 5-24 ปี โดยกลุ่มอายุ 9-14 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยมากที่สุด แต่มีแนวโน้มการระบาดในกลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 15-24 ปี มากขึ้นเรื่อย ๆ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อากาศร้อนสลับฝนตก ซึ่งหลังจากฝนตกก็จะเกิดน้ำท่วมขังในภาชนะต่างๆ ส่วนพื้นที่น้ำท่วมเมื่อน้ำเริ่มลดหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ ได้กำชับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกแห่งทั่วประเทศ ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเร่งรัดการรณรงค์ในมาตรการ 3 ร (โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล) กล่าวคือ เร่งป้องกันและควบคุมโรคในโรงเรือน(ที่อยู่อาศัย) โรงเรียน และโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังเน้นการปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วย 5 ป (ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง และปฏิบัติจนเป็นนิสัย) ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะที่เป็นลูกน้ำ ตัวโม่ง และระยะที่เป็นตัวเต็มวัย หากประชาชนสามารถทำตามมาตรการทั้ง 3 ร และ 5 ป ดังกล่าวได้ ก็จะช่วยให้ลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกลงได้
กระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรการเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกและในด้านของการวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก มีผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเฉพาะได้หาข้อสรุปของปัญหาแนวทางแก้ไข จากการประชุมระยะไกลทำให้ทราบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญเสีย เช่น ปัญหาเด็กอ้วนกับการคำนวณการให้สารน้ำ ผู้หญิงมีประจำเดือนขณะเป็นไข้เลือดออก การเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยเกินไปทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง หรือการมาพบแพทย์ล่าช้ามีอาการหนักมาแล้ว และบางรายเป็นโรคทาลัสซีเมียอยู่แล้ว เป็นต้น
หากประชาชนพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง มีจุดเลือดออกตามตัว หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือไข้ลด แต่มีอาการซึม ทานข้าวทานน้ำไม่ได้ ให้ไปพบแพทย์ทันที อย่าซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแอสไพริน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย เพราะอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333 นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
ข้อความหลัก " เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือกออก ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_08_24_dhf.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น