วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนะหน้าฝนผู้ปกครองมีบุตรหลานต่ำกว่า 5 ปี ให้ระวังเสี่ยงโรคมือ เท้า ปาก อันตรายรุนแรงได้



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก เปิดเผยว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการระบาดของโรค มือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงในเด็กเล็ก ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วจากอาการปอดบวมน้ำเฉียบพลันรุนแรงในหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน และ สิงคโปร์ ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการนำแค่ไข้ประมาณ 1-3 วันจากนั้นอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว หากอาการรุนแรงก่อนเสียชีวิตคือน้ำท่วมปอดและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงเสียชิวิตอยู่ระหว่าง 2-4 วัน


โรคนี้เกิดได้ประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enterovirus ซึ่งพบเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น และมีหลากหลายสายพันธุ์สำหรับสายพันธุ์ที่ก่อโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ Coxsackie virus group A, B และ Enterovirus 71 เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้อจะติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่น ที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ หลังจากได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น โดยจะปรากฏอาการดังกล่าวอยู่ 3-5 วัน แล้วหายได้เอง หรือมีอาการไข้ ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปาก ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อน ลิ้น กระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ซึ่งบริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล ในบางรายอาจไม่พบตุ่มพองแต่อย่างใด แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของเด็กเล็กในช่วงฤดูฝนนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้ปกครองได้ตระหนักและระมัดระวังโรคมือ เท้า ปาก ในบุตรหลาน ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย แต่ผู้ปกครองสามารถป้องกันโรคนี้ได้ โดยไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และระมัดระวังการไอ จาม รดกัน ตัดเล็บให้สั้น ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเตรียมอาหาร ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งภายหลังการขับถ่าย ใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน ในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยซึ่งสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรแยกเด็กอื่นไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ที่มีการระบาด หากเด็กมีตุ่มในปาก โดยที่ยังไม่มีอาการอื่น ให้หยุดเรียน อยู่บ้านไว้ก่อน ให้เด็กที่ป่วยขับถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับ แล้วนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะในส้วม หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไม่ยอมทานอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง อาจเกิดภาวะสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปรับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษา ครูอนามัยโรงเรียนควรเฝ้าระวังโดยหมั่นสังเกตุตรวจเด็กก่อนเข้าห้องเรียนทุกเช้า ถ้ามีอาการป่วย มีไข้ หรือมีผื่นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้แยกเด็กป่วยอยู่ห้องพยาบาล แล้วติดต่อให้ผู้ปกครองพากลับบ้าน โดยทั่วไปอาการโรคมือ เท้า ปาก จะไม่รุนแรงและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ครูและผู้ปกครองอย่านิ่งนอนใจต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที บุตรหลานของท่านก็จะปลอดภัยจากโรคนี้ได้

ข้อความหลัก " ล้างมือสะอาด ไอจามปิดปากจมูก ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง หยุดยั้งโรค มือ เท้า ปาก ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี


ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_08_17_hfm.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น