วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 ลุยลงพื้นที่ภัยน้ำท่วม พบส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า แนะล้างและเช็ดเท้าให้สะอาด ใส่อุปกรณ์ป้องกันเท้าจะปลอดโรคได้



 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม รองผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ดร.นิรมล พิมพ์น้ำเย็น หัวหน้ากลุ่มพัฒนาวิชาการ และคณะเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานได้ลงพื้นที่ บ้านเนินกุ่ม ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ให้การช่วยเหลือสนับสนุนยาชุดน้ำท่วม รองเท้าบูธ เวชภัณฑ์ยาต่าง ๆ และสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันควบคุมโรคให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จากพนังกั้นน้ำแตก จนทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ประชาชนได้รับความเดือนร้อนกว่า 100 หลังคาเรือน

ด้าน เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ของหน่วยงานกล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค มีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ประสบภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขจากสภาวะน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้น ผู้ประสบอุทกภัยยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอนามัยหลายด้าน เพราะกระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค แพร่กระจาย แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง พาหะนำโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดี ปริมาณเชื้อก่อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เกิดโรคผิวหนังจากการสัมผัสกับสารเคมีสิ่งสกปรก

ประชาชนและทหารที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่เป็น โรคน้ำกัดเท้า จากการแช่เท้านาน ๆ ในน้ำ โรคนี้เกิดจากเชื้อรา มีสาเหตุมาจากการแช่เท้าในน้ำที่มีเชื้อโรค เช่น ขยะมูลฝอยปะปนอยู่ ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ผัวหนังแดง รอบๆ เป็นขอบนูนวงกลม คัน ถ้าเกาจะเป็นแผล มีน้ำเหลืองเยิ้ม และถ้าเป็นมากแผลจะอักเสบ บวม มีหนองหรือเป็นฝี มีอาการเจ็บปวด เดินไม่ไหว ไข่ดันบวม และมีไข้ ในระยะแรกที่มีอาการ เท้ายังไม่เป็นเชื้อรา เป็นแค่เท้าเปื่อย และมีเชื้อหนอง เชื้อราจะเกิดเมื่อเท้าอับชื้นเป็นเวลานาน เช่น ใส่รองเท้าที่อบหรือชื้นแฉะทั้งวันเดินย่ำน้ำ แช่เท้าอยู่ในน้ำเป็นเวลานานและไม่เช็คเท้าให้แห้ง

เภสัชกรเชิดเกียรติ แนะนำการปฏิบัติตัวว่า ถ้าจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ หากน้ำล้นเข้าไปในรองเท้าบู๊ท ให้ถอดแล้วเทน้ำในรองเท้าออกเป็นคราว ๆ ไม่ควรแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา หากหารองเท้าบู๊ทไม่ได้ให้ใช้ถุงพลาสติกดำมาประยุกติ์ใช้ทำรองเท้ากันน้ำชั่วคราว หลังจากการเดินย่ำน้ำทุกครั้ง ต้องล้างเท้าให้สะอาด ฟอกสบู่ให้ทั่ว และใช้ผ้าสะอาดเช็คให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า แต่หากมีบาดแผล ให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ครอบบาดแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์เบตาดีน ส่วนการป้องกันนั้น ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำสกปรกหรือแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน ๆ ไม่ควรใส่รองเท้าที่อบทั้งวัน และไม่ใส่รองเท้าที่เปียกชื้น เมื่อกลับเข้าบ้านทุกครั้ง ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็คให้แห้งด้วยผ้าสะอาด

ข้อความหลัก " ป้องกันแช่น้ำสกปรก ล้างเท้าสะอาด เช็ดให้แห้ง คือวิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ”

ดู Clip VDO วิธีทำรองเท้ากันน้ำฉุกเฉิน ที่http://www.youtube.com/watch?v=xWMBGJ-dSiU

เฉพาะกิจเกาะติดการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อป้องกันควบคุมโรคจากภาวะน้ำท่วม ปี 2556 เขตภาคเหนือตอนล่าง ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/special/flood56.html

ฟังเพลงรณรงค์โรคจากฤดูฝนที่ https://soundcloud.com/prdpc9/cbo7hzkfwyra

Download ประกาศกรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคจากฤดูฝนที่http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/tranfers/guideline/2556/2556_06_06_rain.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง “ สคร.9 แนะวิธีง่ายป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลเปิดจากอุบัติเหตุขณะน้ำท่วม ป้องกันติดเชื้อรุนแรง “ ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.521595964595974.1073742005.162933320462242&type=1




 
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 4 กรมควบคุมโรค : การเตรียมความพร้อม และดำเนินการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ อย่างรวดเร็ว ตามความต้องการของพื้นที่ และได้มาตรฐานสากล

รายละเอียดภาพข่าวนี้ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.522804357808468.1073742008.162933320462242&type=1


        


รหัสข่าว 004041056.4
สิริกุล สิทธิพร ถิ่นจันทร์ / รายงาน
มณีวรรณ ปักษา / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615-7 ต่อ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น