สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยในช่วงฤดูฝนของทุกปีมักมีการระบาดของโรคฉี่หนู ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ( พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย ) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน และคาดว่าในเดือนสิงหาคม จนถึง พฤศจิกายน 2556 จะมีแนวโน้มการระบาดจะสูงขึ้น ในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคฉี่หนูเพราะมีโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโรคมากและบ่อยครั้งกว่า แนะผู้ทำงานเสี่ยงโรคนี้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ ถ้าจำเป็นควรใส่ถุงมือ รองเท้าบู๊ท หรือสวมถุงพลาสติกหนาหุ้มด้วยรองเท้าผ้าใบ หมั่นรักษาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ควบคุมกำจัดหนู และกินอาหารปรุงสุก น้ำดื่มสะอาดเสมอ
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปีมักมีการระบาดของโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ซึ่งในบางพื้นที่มีน้ำท่วมหนักจะมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคฉี่หนู และอาจมีผู้เสียชีวิตได้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ( พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย ) พบว่าการระบาดของโรค มากขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี และคาดว่าในเดือนสิงหาคม จนถึง พฤศจิกายน 2556 จะมีแนวโน้มการระบาดจะสูงขึ้น โดยกลุ่มเกษตรกรจะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคฉี่หนูมากที่สุด เนื่องจากมีโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโรคมากและบ่อยครั้งกว่า
เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฉี่หนูคือเชื้อแบคทีเรีย “เลปโตสไปร่า” อาศัยอยู่ในสัตว์พาหะเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย สุนัข แมว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หนู เชื้อจะออกมากับปัสสาวะของสัตว์พาหะได้ตลอดเวลา มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมในดิน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลองและอยู่ได้นานเป็นเดือนถ้ามีปัจจัยที่เหมาะสม เชื้อนี้จะเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโดยเข้าไปทางรอยแตกหรือแผลเล็กๆ บนผิวหนังหรือผิวหนังที่เปื่อยเมื่อแช่น้ำนานๆ และเยื่อบุที่อ่อนนุ่ม เช่น ตา จมูก ปาก เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะฟักตัว 5 – 14 วัน จะเริ่มมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดน่อง ตาแดง ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากเชื้อโรคสามารถกระจายไปทั่วตัว จึงมีภาวะแทรกซ้อนได้หลากหลายระบบ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากภาวะไตวาย ตับล้มเหลว ระบบหายใจล้มเหลว แต่หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากสาธารณสุขได้เร็วและได้รับยาปฏิชีวนะตามข้อกำหนดผู้ป่วยก็จะหายได้ โดยมีคำแนะนำการป้องกันโรค 7 ประการดังนี้
1) ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรค โดยเฉพาะเกษตรกรควรใช้ถุงมือ รองเท้าบู๊ท
2) หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือลุยน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะ ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือสวมถุงพลาสติกหนาหุ้มด้วยรองเท้าผ้าใบ
3) ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัย บริเวณสถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว
4) ล้างท่อระบายน้ำที่อาจจะเป็นแหล่งปนเปื้อนเชื้อบ่อยๆ ไม่ปล่อยให้น้ำขัง
5) ควรเก็บอาหารไว้ในที่มิดชิดเพื่อป้องกันหนูถ่ายปัสสาวะรดใส่อาหาร
6) อาหารที่ค้างมื้อควรนำมาอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน
7) ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง
เภสัชกรเชิดเกียรติ ยังกล่าวเตือนว่า ผู้ป่วยที่มีอาการชี้ชัดและมีประวัติเคยสัมผัสแช่น้ำในช่วง 1 เดือนก่อนจะมีอาการป่วย ควรรีบไปเข้ารับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยทันที ไม่ควรวินิจฉัยและรักษาเอง หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ โทรศัพท์ 1422
ข้อความหลัก “ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคจากฤดูฝนได้ “
ฟังเพลงรณรงค์โรคจากฤดูฝนที่https://soundcloud.com/prdpc9/cbo7hzkfwyra
Download ประกาศกรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคจากฤดูฝนที่http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/tranfers/guideline/2556/2556_06_06_rain.pdf
ดู Clip VDO คำแนะนำป้องกันโรคที่มาจากน้ำท่วมที่http://www.youtube.com/watch?v=fYcJFCanB5Y&feature=share&list=FLjDz8iLfwnqvbZAKinmemhg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง “สคร.9 เตือนน้ำหลาก ประชาชนควรเน้นย้ำสิบบัญญัติสกัดโรคที่มากับน้ำท่วม “ ที่https://www.facebook.com/media/set/?set=a.492325610856343.1073741951.162933320462242&type=1
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
รายละเอียดภาพข่าวนี้
จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น