วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 แนะเข้าพรรษานี้ช่วงเวลามงคล 10 วิธี สะสมทรัพย์อิ่มบุญ สู่ฤดูเลิกเหล้าแห่งชาติ


เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าว ณ สถานีโทรทัศน์เอ็มเอสเอสเคเบิ้ลทีวีพิษณุโลก และสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีพิษณุโลก ว่า ประเทศไทยมีความเจริญทางด้านพุทธศาสนามาช้านาน พระพุทธเจ้าได้ให้พระคำสอนว่า "น้ำเมา" เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ขาดสติ สัมปัญชัญญะ แต่คนไทยก็ดื่มแอลกฮอล์กันทุกเทศกาล แต่ไม่ว่าจะออกกฏหมายมาควบคุมการจำหน่ายและการโฆษณา หรือขึ้นภาษีนำเข้าสุราต่างประเทศหรือในประเทศ แต่ประเทศไทยก็ยังติดอันดับดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 5 ของโลก จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 17 ล้านคน และในจำนวนนี้เกือบ 4 ล้านคนติดแอลกอฮอล์

การดื่มสุราเป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่มโดยตรงได้มากกว่า 60 โรค เช่น ร้อยละ 10-35 ของผู้ดื่มสุรามากจะเป็นโรคตับอักเสบ อีกร้อยละ 10-20 จะเป็นโรคตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับ หรือมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งปาก ปอด ตับอ่อน หลายรายมีอาการท้องเสียและริดสีดวงทวาร เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้องเป็นประจำ เลือดออกทางเดินอาหารและอาจกลายเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารในที่สุด และยังทำให้สมองสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิดอ่าน ฝ่อก่อนวัย ส่งผลให้มีความจำไม่ดี เกิดอาการซึมเศร้า สับสน บางรายอาจจะทำให้เกิดโรคจิต

ผู้ที่ดื่มสุราจนติดเรื้อรัง จะมีอายุเฉลี่ยสั้นลงราว 10-14 ปี หากผู้ดื่มสุราเป็นผู้หญิง สมองจะมีขนาดเล็กกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม แถมจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้ไม่ดื่ม ผู้หญิงที่ดื่มจะเป็นโรคตับอักเสบได้เร็วหรือตายจากโรคตับแข็ง และมักเป็นตอนอายุน้อย ผู้ที่ดื่มสุรานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบ คันปริเวณผิวหนัง เมื่อสูงอายุไปมักจะมีโรคประจำตัวเรื้อรังและต้องใช้หลายชนิด และยังส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดสมองแตก เป็นอัมพฤติอัมพาตตามมา

อีกทั้งการดื่มสุรายังให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ความรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การก่อความรุนแรงต่อครอบครัว ความรุนแรง ข่มขืน อาชญากรรม ฯลฯ มีผลกระทบต่อสมองส่วนควบคุมสติปัญญา การตัดสินใจและควบคุมความฉับไวในการปฏิบัติการช่วงกะทันหัน มีผลต่อการขับขี่โดยตรง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นผลให้ในแต่ละปีมีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

เนื่องในโอกาสเทศกาลวันเข้าพรรษาประจำปี 2556 นี้ กรมควบคุมโรค ขอเชิญชวนคนไทยเข้าร่วมกิจกรรม “งดเหล้าเข้าพรรษา” ทำความดีถวายในหลวงและสมเด็จพระสังฆราช ตั้งเป้าว่าจะมีคนไทยมาร่วมกิจกรรมนี้มากขึ้น 10 ล้านคน โดยขอแนะนำ 10 วิธีเลิกเหล้า ได้แก่
1) ตั้งใจจริง
2) ตั้งเป้าว่าจะเลิกเพื่อใคร
3) หยุดทันที หักห้ามใจเมื่อตัวเองเข้าสังคม
4) ปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่ม เช่น ดื่มเหล้าพร้อมรับประทานอาหาร ดื่มน้ำเปล่าคู่กับเหล้า เปลี่ยนขนาดแก้ว เป็นต้น
5)ตั้งเป้าลดปริมาณการดื่มในแต่ละวันแต่ละครั้ง
6)หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ เช่น หลีกเลี่ยงการไปผับบาร์ สถานบันเทิง หรือเลี่ยงจากกลุ่มดื่มเหล้
7) ทำกิจกรรมอื่นแทนการนั่งดื่มสังสรรค์ เช่น เล่นกีฬา ทำบุญ อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมที่ชื่นชอบต่างๆ
8. ฝึกปฏิเสธให้เด็ดขาด เช่น ไม่วางต้องไปทำธุระ หรือหมอห้ามดื่ม
9) หาที่พึ่งทางใจจากคนรอบข้าง เช่น พ่อ แม่ เพื่อนสนิท คนรัก ลูก และ
10) หากเลิกด้วยตัวเองไม่ได้ให้ปรึกษาหน่วยงานที่ช่วยเหลือด้านการอดเหล้า เช่น ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุขภาพทางโทรศัพท์ 1413 และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษามงคลฤกษ์ดีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะได้ย้ำเตือนให้ไตร่ตรอง ทบทวน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยควรได้แสดงพลังศรัทธาทางศาสนาอันแรงกล้าสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตระหนักถึงโทษและสารพัดพิษภัยที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หันมาส่งเสริมสุขภาวะของตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง สู่สังคมสุขภาพดี ปลอดโรค แข็งแรง “ สะสมทรัพย์ อิ่มบุญ เข้าพรรษา ฤดูเลิกเหล้าแห่งชาติ “ นำมาซึ่งสุขภาวะทั้งทางร่างกายและสุขสงบทางจิตใจ ความเจริญก้าวหน้ามาสู่ทุกท่านตลอดไป

ขอเชิญร่วมลงทะเบียนงดดื่มเหล้าทำความดีถวายในหลวงที่http://1king1heart.net/2555/registeration.php

ข้อความหลัก “ เลิกเหล้าวันนี้ พาชีวีเป็นสุข “

ฟังเพลงรณรงค์สุราที่ https://soundcloud.com/prdpc9/srbvmqlgdffd

ดู Clip VDO ละครสั้นรณรงค์เลิกเหล้าhttp://www.youtube.com/watch?v=cp8LsLb3nl0&list=PLA7D4264010BCE1B2




 
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมด https://www.facebook.com/media/set/?set=a.483359348419636.1073741937.162933320462242&type=1

 

        

จิดาภา รอดอยู่ / รายงาน / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ / ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-123
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น