วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

สคร.9 เตือนพื้นที่ชายแดนผู้มีอาชีพหาของป่าล่าสัตว์มีความเสี่ยงสูงโรคไข้มาลาเรีย



เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค จัดการประชุมประจำเดือนครั้งที่ 5 /2556 ณ ห้องประชุมกลุ่มฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนการรณรงค์โรคไข้มาลาเรีย ซึ่งถือเป็นโรคติดต่อประจำถิ่น ประชากรครึ่งหนึ่งของทั่วโลกหรือประมาณ 3,300 ล้านตนมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ เป็นปัญหาทางสาธารณสุขในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงไต้มานานกว่า 100 ปี




สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ( พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก และสุโขทัย ) จากรายงานโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ของหน่วยงาน ระยะเวลาช่วงเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2556 มีกาตรวจพบเชื้อมาลาเรียถึงจำนวน 978 ราย โดยทุกรายพบเชื้อที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนไทย - พม่า โดยพบในชาวต่างชาติมากถึง 606 รายหรือคิดเป็น ร้อยละ 62 ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 5-15ปี ส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยมาก คือ หาของป่า หรือล่าสัตว์



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมาลาเรียมียุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ยุงชนิดนี้มักกัดคนในเวลากลางคืน มีชุกชุมตามบริเวณที่เป็นป่าเขาที่มีแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ การติดต่อของโรคนี้ คือ 1) โดยถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียในต่อมน้ำลายกัด และปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดคน เป็นวิธีธรรมชาติที่พบได้มากที่สุด 2) ติดต่อจากมารดาซึ่งมีเชื้อมาลาเรียในร่างกายและถ่ายทอดทางรกไปสู่ทารกในครรภ์ วิธีนี้พบได้น้อยมาก มักพบได้ในท้องที่ที่มีมาลาเรียชุกชุม กรณีเช่นนี้จะพบระยะฟักตัวสั้นกว่าวิธียุงกัด ทารกแรกเกิดและมารดาจะมีเชื้อมาลาเรียชนิดเดียวกัน 3) ติดต่อโดยวิธีการถ่ายเลือด จะพบในรายที่ผู้บริจาคโลหิตมีความหนาแน่นของเชื้อมาลาเรียในกระแสโลหิตต่ำและไม่มีอาการ หากไม่ได้ทำการตรวจโลหิตหาเชื้อมาลาเรียก่อน ผู้ป่วยที่รับการถ่ายเลือดจะป่วยเป็นมาลาเรียได้



ส่วนอาการของผู้ที่ถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ประมาณ 10 – 14 วัน จะเริ่มด้วยมีอาการไข้เล็กน้อย ปวดศีรษะบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด อาการที่เด่นชัดของโรคนี้คือ 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะมีอาการหนาว ปากและตัวสั่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะโรคนี้ ชาวบ้านอาจเรียกว่าเป็นไข้จับสั่น จากนั้น 1-2 ชั่วโมงต่อมาจะอาการไข้สูง ตัวร้อนจัด หน้าแดง ปากซีด อาเจียน กระหายน้ำ ในรายอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ อีก 1-4 ชั่วโมงต่อมาผู้ป่วยจะมีเหงื่อออกเปียกชุมร่างกาย ตัวจะค่อย ๆ เย็นลงเหมือนคนปกติและอ่อนเพลีย ผลร้ายของมาลาเรียในหญิงตั้งครรภ์คืออาจทำให้เด็กในครรภ์ตายได้

โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ป้องกันได้ โดยประชาชนควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัดเมื่อเข้าป่า เช่น นอนในมุ้งหรือมุ้งชุบสารเคมี นอนในบ้านหรือกระท่อมที่พ่นสารเคมี ทายากันยุง สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างการให้มิดชิด สุมไฟไล่ยุง หากป่วยแล้วไม่รักษาอย่างรวดเร็วอาจทำให้ถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าพบว่าตนเองหรือครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยคล้ายที่กล่าวมาควรรีบไปตรวจที่มาลาเรียคลินิค หรือสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้ที่สุดทันทีโดยไม่รอช้า

ในส่วนของชุมชนจะมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคไข้มาลาเรียได้ดังนี้ คือ ยินยอมให้เจ้าหน้าที่พ่นสารเคมีตามบ้านเรือน นำมุ้งไปชุบน้ำยาเพื่อป้องกันยุง ปล่อยหรือเลี้ยงปลากินลูกน้ำ เจาะเลือดตรวจเมื่อกลับจากค้างแรมในป่าหรือมีอาการไข้ และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้มาลาเรียแล้วต้องกินยาให้ครบตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ



ข้อความหลัก " นอนในมุ้ง ทายากันยุง ไข้สูงหนาวสั่นรีบไปพบหมอ ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย"



ดูข่าวและภาพ Clip VDO ที่เกี่ยวข้องได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2556/04_23_dhf.html










ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ



รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมดที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.448124351943136.1073741871.162933320462242&type=1


        


สิริกุล สิทธิพร ถิ่นจันทร์ / รายงาน

จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่

เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน

โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้

โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238

Email : dpc9phs@yahoo.com

ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น