เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยในรายการบอกข่าวเล่าเรื่อง สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที พิษณุโลก ว่า จากสภาพภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ของประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น มีอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เอื้ออำนวยต่อการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามธรรมชาติ ซึ่งยุงชนิดที่เป็นพาะหะนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยได้แก่ ยุงลายบ้าน เป็นพาหะหลัก และยุงลายสวนเป็นพาหะรอง
โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงเรียกชื่อว่าเดงกี่ฮีโมราจิคฟีเวอร์ ( Dengue Haemorrhagic Fever, DHF) ซึ่งไวรัสเดงกี่นี้มี 4 ชนิด และมีภูมิคุ้มกัน ของกลุ่มบางชนิดร่วมกัน เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนั้นอย่างถาวรตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกี่อีก 3 ชนิด ในช่วงระยะสั้นๆประมาณ 6-12 เดือน หรืออาจสั้นกว่านั้น ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้
โรคไข้เลือดออกมักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่คือ ไข้เดงกี่ อาจมีอาการไม่รุนแรง มีอาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่น บางรายอาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเม็ดเลือดขาวต่ำได้ ในผู้ใหญ่เมื่อหายจากเป็นโรคแล้วจะมีอาการต่อเนื่องอยู่ โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจเลือดได้ ต้องอาศัยการตรวจทางน้ำเหลือง
จากการรายงานทางระบาดวิทยา พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยปี 2556 นี้มีแนวโน้มสูงผิดปกติ ทั้งนี้มีผู้ป่วยสูงต่อเนื่องตั้งแต่วันที่1 มกราคม ถึง 18 เมษายน 2556 มีผู้ป่วยแล้ว 22,495 ราย เสียชีวิต 25 ราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าปีนี้การระบาดและความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยกระจายอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนในเขต 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ( พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย ) พบรายงานผู้ป่วย 930 ราย เสียชีวิต 1 ราย
ดังนั้นประชาชนควรดูแล ป้องกัน โรคไข้เลือดออก ด้วยตนเอง จึงแนะนำให้เดินหน้ารณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ตัดตอนวงจรชีวิตยุงลาย เน้นย้ำ มาตรการ “ 5 ป. 1 ข. ปราบยุงลาย ” ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยมีวิธีทำได้ง่าย ๆ คือ
ป.1 ปิด ภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
ป.2 เปลี่ยน น้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วันที่ตรงกันทั้งชุมชนเพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
ป.3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร
ป.4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
ป.5 ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอตลอดไป
1ข. ขัดล้างไข่ยุงลาย ที่อาจติดอยู่กับภายในภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ใส่น้ำ เช่น อ่าง แจกัน กระถาง เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำต่อว่า หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยสูง 39-40 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อย่างเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก หากมีมีอาการตามข้างต้นให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที จะทำให้ป้องกันและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดvอกได้ หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องโรคไข้เลือดออกสอบถามได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422
ข้อความหลัก “ 5 ป. 1 ข. มาตรการ เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ ป้องกันไข้เลือดออก"
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ
รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมดที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2556/04_23_dhf.html
จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น