วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ย้ำเตือนฤดูฝนต้องเคร่งครัดรักษาสุขอนามัยร่างกายและสภาพแวดล้อม หากฝนตกหนัก แนะวิธีสังเกตพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม
เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้จะย่างเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศที่เปลี่ยนและมักมีฝนตกหนัก ติดต่อกันเป็นช่วง ๆ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้ตามจังหวัดต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิดซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบถึงวิธีการป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูฝน ดังนี้
1. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค
2. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระลงในส้วม และล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
3.ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำ ใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง ใช้เครื่องป้องกันให้เป็นนิสัย เช่น การใช้รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสฉี่สัตว์ การควบคุมหนู โดยการทำลายและการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
4.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ หากมีไข้ไม่สูง หรือรู้สึกไม่สบาย ควรเช็คตัวลดไข้เป็นระยะ รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และหากภายใน 2 วัน ไข้ไม่ลดหรืออาหารทรุดลงให้รีบไปพบแพทย์
5.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง เช่น น้ำที่ต้มสุกแล้ว หรือน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารอื่น
6.อย่าให้ถูกยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ตรวจดูภาชนะเก็บกักน้ำต่าง ๆ ปิดฝาให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้หรือพลูด่างทุก 7 วัน ใส่เกลือ / ผงซักฟอก ทรายอะเบท ลงในจานรองตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำใช้ หรืออ่างบัว จัดบ้านให้เป็นระเบียบ สะอาด ทำลายเศษภาชนะที่มีน้ำขัง เช่นขวด กระป๋อง กล่องโฟม พลาสติก ฯลฯ ถ้าเดินทางไปพักค้างแรมในป่า ต้องป้องกันตนเองให้ถูกยุงกัด
7.อย่าใช้มือ แขน หรือ ผ้าที่สกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา หรือรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ถูกน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือ มีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่ม ก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น
8.ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการถูกของมี่คมและสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยการจัดและดูและบ้านเรือนให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษหรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันได้
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า เนื่องด้วยช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้อาจมีพายุโซนร้อน เคลื่อนตัวผ่านหรือเข้าประเทศไทย อาจส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนั้นประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ลุ่ม ใกล้ทางน้ำไหลหลาก อาจได้รับอันตรายจากฝนตกหนักและอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มได้ โดยสามารถเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ดังนี้
• อยู่ติดภูเขาและใกล้ลำห้วย
• มีร่องรอยดินไหลหรือดินเลื่อนบนภูเขา
• มีรอยแยกของพื้นดินบนภูเขา
• อยู่บนเนินหน้าหุบเขาและเคยมีโคลนถล่มมาบ้าง
• ถูกน้ำป่าไหลหลากและท่วมบ่อย
• มีกองหิน เนินทรายปนโคลนและต้นไม้ ในห้วยใกล้หมู่บ้าน
• พื้นห้วยจะมีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่อยู่ปนกันตลอดท้องน้ำ
และมีข้อสังเกตุหรือสิ่งบอกเหตดินถล่ม ดังนี้
• มีฝนตกหนักถึงหนักมาก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน)
• ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
• สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินบนภูเขา
• มีเสียงดัง อื้ออึง ผิดปกติดังมาจากภูเขาและลำห้วย
• น้ำท่วมหมู่บ้าน และเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อความหลัก " ป้องกันล่วงหน้าก่อนเสี่ยง ควบคุมฉับไวก่อนระบาด”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/07_25_pher.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น