วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

อุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เคราะห์กรรม เตือนง่วงหลับใน ดื่มเหล้าช่วงเทศกาล ส่งอุบัติเหตุพุ่ง 2 เท่า



เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า อุบัติทางถนนในแต่ละปีทั่วโลกมีคนมากกว่า 1.2 ล้านคนเสียชีวิต บาดเจ็บและพิการอีกกว่า 50 ล้านคน ในประเทศไทยเสียชีวิตเฉลี่ยวันละประมาณ 30 กว่าคน แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล คือ ปีใหม่ สงกรานต์ ยอดเสียชีวิตต่อวันจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของปกติ สาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดจากเคราะห์กรรมแต่อย่างใด แต่เกิดจากพฤติกรรมหรือการกระทำของคนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพอสรุปสาเหตุได้ คือ สาเหตุจากบุคคล เช่น ขับโดยประมาท ขับรถเร็ว ขับรถขณะมึนเมา ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลายหรือสะพานลอย ข้ามตัดหน้ารถระยะกระชั้นชิด สาเหตุจากรถ เช่น การนำรถที่อุปกรณ์บกพร่องมาใช้ในทาง เบรก ไฟสัญญาณ กระจกส่องหลัง ที่ปัดน้ำฝน สาเหตุจากทางและเครื่องหมายสัญญาณชำรุด เช่น บริเวณทางแยก ทางตัดรางรถไฟ ทางโค้ง ทางชำรุด สาเห¬ตุจากธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนัก หมอกลงจัด


อุบัติเหตุทางถนนที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ คือ การเมาสุรา การขับรถเร็วและฝ่าฝืนสัญญาณไฟ รถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก รถเก๋ง ตามลำดับ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงอายุ 20 - 49 ปีร้อยละ 53.8 รองลงมาคืออายุต่ำกว่าปี ร้อยละ 28.1 อุบัติเหตุส่วนมากเกิดในเวลา 12.00 – 24.00 น. ผู้ชายจะเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมากกว่าผู้หญิง

ความง่วงทำให้ประสิทธิภาพในการขับยานพาหนะลดลง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร เพราะคนง่วงประสาทสัมผัสช้าลง การตัดสินใจ ผิดพลาด คล้ายคนเมา แต่ร้ายแรงที่สุด คือ การหลับในขณะขับรถ ซึ่งสมองจะหลับไปแวบหนึ่งโดยจะสังเกตจากภายนอกไม่ได้ เพราะการง่วงหลับในเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ และเกิดขึ้นกับคนที่ง่วงจัด ซึ่งมีอาการหาวนอนไม่หยุด ลืมตาไม่ขึ้น และเริ่มควบคุมพวงมาลัยไม่ได้ ถ้าฝืนขับต่อไปก็จะเกิดการหลับใน

คนง่วงหลับในเปรียบเสมือนคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาตและหมดสติชั่วครู่ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างน้อยร้อยละ 20 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทั่วโลก ขณะรถวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากคนขับรถหลับในแค่ 4 วินาที รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยที่คนขับเองไม่รู้ตัวว่ารถวิ่งไปในทิศทางไหน เวลาเกิดอุบัติเหตุจึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส เพราะคนขับไม่หักหลบหรือเหยียบเบรกเลย สาเหตุของความง่วงเกิดได้หลายสาเหตุด้วยกัน ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การอดนอนนอนไม่พอ หรือการใช้ยาต่าง ๆ เช่น ยาแก้หวัด ภูมิแพ้ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ที่เป็นสาเหตุทำให้ง่วง

วิธีป้องกันความง่วงสามารถทำได้ดังนี้ คือ ก่อนขับรถควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง อย่าใช้ยาที่ทำให้เกิดความง่วง งดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ก่อนเดินทาง กระตุ้นเตือนจิตสำนึกถามตัวเองเป็นระยะ ๆ เมื่อรู้สึกง่วงต้องหาทางแก้ไข เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง หากง่วงมากต้องรีบหาที่จอดพักที่ปลอดภัย แวะร้านสะดวกซื้อตามสถานีบริการน้ำมันที่มีคนเข้าคึกคักจะได้ไม่อันตราย เข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตา ยืดเส้นยืดสาย ดื่มกาแฟ เมื่อตาจะสว่างหรือร่างกายตื่นตัวดีขึ้นแล้วจึงขับต่อ เปิดเพลงฟังและร้องตามจะทำให้ร่างกายสดชื่นพร้อม หากเกิดง่วงอีกก็แวะทำแบบเดิมอีก สามารถทำได้หลายครั้งในการเดินทางในระยะทางไกล และไม่จำกัดวิธีในการบริหารความง่วง

แอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปนั้นประมาณร้อยละ 90 จะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว และภายในเวลา 30 – 90 นาที ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุด กระจายในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ผลที่เห็นได้อย่างชัดเจน ลำดับแรกคือ ฤทธิ์ต่อสมอง ในระยะแรกจะทำให้ผู้ดื่มเกิดความคึกคะนอง แต่ในขณะเดียวกันก็จะเริ่มมีผลต่อการตัดสินใจ การพูด ความว่องไวในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะช้าลง ทำให้มีผลต่อการขับขี่ยานพาหนะและ เมื่อระดับของแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอีกจะทำให้สูญเสียด้านการทรงตัว การมองเห็น สมาธิ ความจำ และอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ดังนั้นก่อนขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มียานพาหนะบนท้องถนนจำนวนมาก ควรงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายโดยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ วัด สถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งสถานที่ราชการ และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั้มหรือร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้านค้าในชุมชนห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาหวงห้าม คือ เวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น.เท่านั้น แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ และการโฆษณา จูงใจสาธารณชน หรือ ลด แลก แจก แถม เป็นต้น

ข้อความหลัก " งดดื่มเหล้า สวมกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัย เดินทางจะปลอดภัย เจ็บและตายกลายเป็นศูนย์ ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/04_15_sl.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น