วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ชี้ช่วงหน้าหนาวผู้ปกครองต้องดูแลลูกหลานเป็นพิเศษ ก่อนจะป่วยด้วยโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า คำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555 คือ "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" เพราะเด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต เด็กควรเติบโตอย่างสมบูรณ์ อยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ปลอดภัย ควรได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในการพัฒนาทางกาย ทางสมอง และทางจิตใจ ควรส่งเสริมให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองและสังคม


เด็กทุกคนควรเกิดมาแข็งแรงโดยมารดาต้องมีการวางแผนครอบครัวที่ดี มีลูกเมื่อพร้อมทั้งภาวะสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งเศรษฐกิจพอจะเลี้ยงลูกได้ เมื่อลูกเกิดมาควรเลี้ยงนมแม่ให้นานที่สุด อย่างน้อย 4 เดือน อาจให้จนถึงอายุ 2 ปี เมื่ออายุ 6 เดือน ควรได้รับอาหารเสริม 1 มื้อ และเพิ่มขึ้นตามวัย อายุ 12 เดือน ให้อาหารที่เหมาะสม มีคุณภาพครบถ้วน 3 มื้อเป็นอาหารหลัก และนมแม่เป็นอาหารเสริม กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของเด็ก เนื่องจากช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น เด็กๆ มักจะป่วยด้วย “ โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ “ หมายถึง เป็นการติดเชื้อของระบบหายใจที่เกิดขึ้นทันที มีอาการไข้ ไอ หรืออาการทางหู หรือหายใจลำบากต่อเนื่องกัน มักจะเป็นอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ มีหลายโรคที่พบบ่อย เช่น โรคหวัด คออักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดบวม โดยเฉพาะโรคหวัด ที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วมีโรคสำคัญหลายโรคที่เริ่มต้นด้วยอาการคล้ายหวัด เช่น โรคมือเท้าปาก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก ฯลฯ ถ้าเด็กได้รับการดูแลไม่ถูกต้อง อาจมีโรคแทรกซ้อน โรคเรื้อรัง ตามมา ถึงพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น โรคหูน้ำหนวกและหูหนวก โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคขาดสารอาหาร เป็นต้น

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า การป้องกันไม่ให้เด็กป่วยจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด เด็กเล็ก ๆ จะต้องหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไอ โดยไม่ให้อยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่ายคือ การไม่อยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน กรณีที่เด็กป่วยแล้วต้องป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น อาจเริ่มต้นง่ายๆ โดยครูและผู้ปกครองเด็กต้องหมั่นปลูกฝังอุปนิสัยรักความสะอาดฝึกให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ถ้าเด็กป่วยแม้เพียงเป็นหวัด เป็นไข้ ก็ควรให้หยุดเรียน ครูอนามัย ผู้ปกครอง ควรร่วมมือเป็นกระแสสำคัญในการสร้างเสริม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ทั้งด้านสังคม ด้านการรักษาสุขภาพของตนเอง และมีส่วนร่วมในการป้องกัน โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก ไม่ให้แพร่กระจายไปติดต่อเพื่อนๆ ที่โรงเรียนอีกด้วย

ข้อความหลัก " เด็กคือกำลังสำคัญ โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ ควรป้องกันก่อนที่จะป่วย”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2555_01_05_aric.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น