วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555
บทเรียนปีใหม่ รถมอเตอร์ไซค์พาหนะที่คล่องตัวแต่อันตรายสูงย้ำเตือนผู้ใหญ่ รักวัวให้ผูก รักลูกหลานให้สวมหมวกกันน็อค
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบโรค เปิดเผยว่า ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 7 วันอันตราย วันที่ 29 ธันวาคม 2554 ถึง 4 มกราคม 2555 ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่ามีผู้บาดเจ็บที่ต้องรับรักษาไว้ในโรงพยาบาล จากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศมากถึง 3,375 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 335 ราย และในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีจำนวนผู้บาดเจ็บจำนวน 282 ราย เสียชีวิตรวม 16 ราย
สาเหตุหลักมากที่สุดเกิดจากการเมาสุรา รองลงมาคือการขับรถเร็วเกินกำหนด การตัดหน้ากระชั้นชิด และมอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตุว่าประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถมอเตอร์ไซค์ร้อยละ 81.5 รถปิคอัพร้อยละ 9.3 และรถเก๋งหรือรถแท็กซี่อีกร้อยละ 3.72
พฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด คือ การไม่สวมหมวกกันน็อคร้อยละ 27.4 และไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอีกร้อยละ 3.2 ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ มากที่สุดคือ ทางหลวงแผ่นดินร้อยละ 37.5 ถนนใน อบต. หรือหมู่บ้านร้อยละ 32.95 จุดเกิดเหตุมากที่สุด คือ ถนนทางตรงร้อยละ 62.3 ทางโค้งร้อยละ 19 และทางแยก ร้อยละ 11.7 ส่วนช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 28.87 และช่วงเวลา 12.01-16.00 น. ร้อยละ 20.24 ช่วงอายุของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต คือ อายุต่ำกว่า 20 ปีร้อยละ 27.2 กลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 54.56 ที่เหลือเป็นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
คนไทยส่วนใหญ่มีความจำเป็นและนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะในการเดินทาง เป็นยานพาหนะยอดฮิตคู่ใจวัยรุ่น เพราะมีความคล่องตัว สะดวก ว่องไว รวดเร็ว โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยประมาณ 4 คน จะมีรถมอเตอร์ไซค์ครอบครอง 1 คัน หรือเกือบทุกหลังคาเรือนมีรถมอเตอร์ไซค์ใช้ 1 คัน รถมอเตอร์ไซค์เป็นรถที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บให้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเหมือนรถยนต์การใช้รถมอเตอร์ไซค์จึงเปรียบได้กับ “ เนื้อหุ้มเหล็ก ” เมื่อเกิดอุบัติเหตุย่อมก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้เสมอ ตั้งแต่การบาดเจ็บเล็กน้อยไปจนกระทั้งบาดเจ็บมาก รถมอเตอร์ไซค์สามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กและเยาวชนไปในทางเลวร้ายได้ง่ายมาก เพราะอุบัติเหตุแต่ละครั้งก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย ได้แก่ บาดเจ็บเล็กน้อย แต่ก็ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ต้องรักษาตัว ต้องหยุดเรียน บาดเจ็บรุนแรง อาจต้องสูญเสียอวัยวะกลายเป็นคนพิการ หรืออาจกลายเป็นอาชญากรในชั่วพริบตา ทำให้สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ อยู่ในสังคมได้ยาก หนักสุดคือเสียชีวิต เพราะรถมอเตอร์ไซค์คู่ใจ คร่าชีวิตผู้เป็นเจ้าของไปอย่างไม่ปรานี พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่นั้นแขนและขาเป็นอวัยวะที่มีการบาดเจ็บมากที่สุด รองลงไป คือ ศีรษะและคอ แต่สำหรับในรายที่เสียชีวิต พบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะและคอมากที่สุด
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำสำหรับผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์เพื่อความปลอดภัย คือ ควรตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมที่ขับขี่อยู่เสมอ งดการดื่มสุราก่อนขับขี่ แต่งการด้วยเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ให้รัดกุม เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังถลอกหรือเป็นแผลได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง โดยสีของเสื้อผ้าควรสว่างสดใสเพราะจะช่วยให้คนขับรถข้างเคียงเห็นได้ชัด ไม่ควรขับขี่รถจักยานยนต์ด้วยความเร็วสูงหรือบรรทุกน้ำหนักสิ่งของหรือคนโดยสารมากเกินไปจนทำให้รถทรงตัวไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ในระยะกระชั้นชิดกับยานพานะอื่น ๆ เมื่อพบบริเวณทางแยกหรือออกจากซอยควรขับขี่ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้ลดความเร็วให้ช้าลงในถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเวลาฝนตกหรือมีหมอกลงจัด ชะลอความเร็วถ้ามีคนหรือสัตว์อยู่ในถนนหรือวิ่งตัดหน้า ดูกระจกส่องหลังและให้สัญญาณไฟทุกครั้งเมื่อต้องการเปลี่ยนช่องทางเดินรถ พกใบอนุญาตขับขี่รถจักยานยนต์ไปด้วยทุกครั้ง และที่จะขาดเสียไม่ได้เลยคือต้องสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ล้อหมุน
สำหรับผู้ใหญ่ ผู้ปกครองและพ่อแม่ เมื่อบุตรหลานขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ต้องเข้มงวดให้ใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของคนที่รัก ให้ท่องจำไว้เสมอว่า “ รักวัวให้ผูก รักลูกหลานให้สวมหมวกกันน็อค “
ข้อความหลัก " อุบัติเหตุมอเตอร์ไซต์ถึงพิการหรือเสียชีวิต รักวัวให้ผูก รักลูกหลานให้สวมหมวกกันน็อค”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2555_01_07_acci.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น