วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

เตือนเหนือล่างหลังหนาว จัดงานเลี้ยงเผลอกินเนื้อดิบ ระวังโรคหนอนพยาธิรุนแรงถึงตายได้


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ปัจจุบันการเจ็บป่วยจากการกินนับเป็นสาเหตุใหญ่ของคนไทย โรคหนอนพยาธิ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ โรคนี้เกิดจากเชื้อปรสิตในกลุ่มที่เรียกว่า เฮลมินท์ (helminth) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหนอน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท และก่อให้เกิดโรคหนอนพยาธิต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุข คือ 1) พยาธิตัวกลม เกิดโรค พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือนกลม โรคทริคิโนซิส โรคเท้าช้าง 2) พยาธิใบไม้ เกิดโรค พยาธิใบไม้ลำไส้ ใบไม้ปอด ใบไม้ตับ ใบไม้เลือด และ 3) พยาธิตัวตืด พยาธิตืดวัว ตืดหมู เป็นต้น


ช่วงเวลาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร ระหว่างเดือน มกราคม ถึง มิถุนายน ของทุกปีมักจะมีกิจกรรมร่วมกัน มีงานเลี้ยงรื่นเริง เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช ฯลฯ โดยมีการจัดงานเลี้ยงตามหมู่บ้าน มีการล้มสัตว์เป็นๆ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารสำหรับคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับวิถีชาวบ้านเเบบไทยๆ ประชาชนบางส่วนมีพฤติกรรมการกินลาบหมูดิบ เพราะการหาซื้อหมูมาทำเป็นอาหารทำได้ง่าย หมูนั้นอาจติดโรคพยาธิ ทำให้ผู้ที่กินเสี่ยงติดต่อโรคจากหนอนพยาธิได้ ผู้ป่วยมักป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลกันทั้งหมู่บ้าน โดยเฉพาะหนอนพยาธิที่ยังเป็นปัญหาอยู่บ่อย ๆ คือ พยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า ทริคิโนซีส (Tricinosis)

โรคทริคิโนซิส เกิดจากการกินเนื้อของสัตว์ ที่มีพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิตัวกลมขนาดเล็ก ที่มีชื่อเรียกว่า ทริคิเนลลา สไปราลิส (Trichinella spiralis) โดยกินเเบบดิบ ๆ หรือกึ่งดิบกึ่งสุก ลักษณะอาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้เเก่ ลาบ ลาบเลือด หลู้ เเละเเหนม โดยพยาธิสามารถมีชีวิตอยู่ในเเหนมได้นานถึง 8 วัน โรคนี้เเท้จริงเเล้วเป็นโรคที่เกิดในสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า ที่พบว่ามากกว่า 75 ชนิดทั่วโลกที่เป็นที่อาศัยของพยาธิชนิดนี้ และเป็นแหล่งแพร่โรคมาสู่คน เช่น หมู เนื้อวัว เนื้อหมูป่า เนื้อเก้ง กระรอกป่า ตะกวด เเละเนื้อสัตว์ป่า ที่ปรุงไม่สุก ที่ปรุงไม่สุก โดยพยาธิตัวเต็มวัยจะไชอยู่ในลำไส้เล็กของสัตว์หรือคนที่เป็นโรค เมื่อผสมพันธุ์กันเเล้ว ตัวเมียจะปล่อยพยาธิตัวอ่อนออกมา มีรายงานพบตัวอ่อนที่มีชีวิตในกล้ามเนื้อคนได้นานถึง 5-10 ปี ซึ่งท้ายที่สุดเเล้วจะเดินทางเข้าไปอยู่ในซิสต์ส่วนกล้ามเนื้อที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ เช่น กล้ามเนื้อเเถวน่อง ลิ้น กระบังลม

อาการป่วยในระยะเเรกในช่วงประมาณ 1-7 วัน หลังกินเนื้อดิบ จะมีอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง คล้ายอาหารเป็นพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียมาก ต่อมาหลังจากอาทิตย์เเรกผ่านไป ประมาณ 2-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หน้าบวม หนังตาบวม เยื่อบุตาอักเสบเเละมีเลือดออกใต้หนังตา ตาพร่า อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อเเละกดเจ็บ การเคลื่อนไหวเเขนขาทำได้ลำบาก การพูด หายใจ กลืน เเละเคี้ยวอาหารทำได้ลำบาก ต่อจากนั้นประมาณอาทิตย์ที่ 5-6 ไข้จะเริ่มลดลง อาการปวดกล้ามเนื้อลดลง พูดได้ดีขึ้น อาการต่างๆ จะค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติ แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจมีอาการเเทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจรุนเเรงถึงตายได้ อย่างไรก็ตาม ความรุนเเรงของอาการจะมากหรือน้อย ขึ้นกับจำนวนของพยาธิในเนื้อที่กินเข้าไป การกินยารักษาจะใช้ได้ในระยะแรกของการติดเชื้อ ในช่วงที่พยาธิตัวเเก่ยังอยู่ในลำไส้เท่านั้น และยาจะไม่ได้ผลถ้าพยาธิเข้าสู่กล้ามเนื้อเเล้ว ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลเเน่นอนในการกำจัดตัวอ่อนที่กระจายอยู่ตามกล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงต้องให้การรักษาตามอาการ เเละให้ยาบรรเทาหรือลดการอักเสบ

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวแนะนำประชาชนทั่วไปในการป้องกันโรค คือ ประชาชนควรจะมีความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ซึ่งวิธีการที่ยังได้ผลในการป้องกันโรคหนอนพยาธิชนิดนี้ คือ การทำให้เนื้อที่มีหนอนพยาธิไม่สามารถแพร่โรคได้ คือ เกษตรผู้เลี้ยงหมูบ้านควรต้มเศษเนื้อที่ใช้เลี้ยงหมูให้สุกเสียก่อน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในหมูซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการเเพร่โรคสู่คน ผู้ปรุงอาหารต้องทำให้เนื้อสุก หรือโดยการแช่แข็งเนื้อและการทำให้แห้ง ส่วนผู้บริโภคก็ต้องป้องกันตนเองโดยการสร้างพฤติกรรมง่ายๆ เลือกกินเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น เลิกพฤติกรรมการกินเนื้อหมูเเละเนื้อสัตว์อื่นๆ เเบบสุกๆ ดิบๆ ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร ถ่ายลงส้วมทุกครั้ง และทำลายซากสัตว์ทิ้งอย่างถูกสุขอนามัย ที่สำคัญจะต้องปลูกฝังพฤติกรรมนี้ให้กับลูกหลานได้ปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัยไปจนโตด้วย

ข้อความหลัก " กินอาหารปรุงสุก ล้างมือสะอาด ป้องกันหนอนพยาธิแพร่โรค”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2555_01_27_Tri.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น