วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555
หวั่นนกอพยพหนีหนาวผนวกตรุษจีน แนะเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกตาย ล้างมือ ปรุงอาหารสุก ปิดปากจมูก พ้นหวัดนก
เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยว่า ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไข้หวัดในสัตว์ปีกหรือไวรัสไข้หวัดนก ก่อนปี 2549 ประเทศไทยพบการระบาดของโรคนี้ โดยช่วงแรกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในฟาร์มสัตว์ปีกของเกษตรกรรายย่อย (ไก่ไข่ ไก่เนื้อ นกกระทา ฯลฯ) ซึ่งขาดระบบความปลอดภัยจากเชื้อโรค ระยะหลังเกิดในสัตว์ปีกพื้นเมือง ได้แก่ เป็ดไล่ทุ่ง ไก่เลี้ยงปล่อยหลังบ้าน และไก่ชน สัตว์ปีกพื้นเมืองมีความทนทานต่อโรคมากกว่าสัตว์ปีกในฟาร์ม โดยเฉพาะเป็ด ซึ่งอาจติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถปล่อยเชื้อออกมากับมูลได้ ทำให้เป็ดเป็นแหล่งรังโรคสำคัญของการแพร่ระบาดออกไปยังสัตว์อื่นๆ และคนได้
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค แจ้งเตือนว่าถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่ในคนเป็นเวลามากกว่า 5 ปี (พบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมือ ปี พ.ศ. 2549 ) และไม่พบการเกิดโรคในสัตว์ปีกเป็นเวลามากกว่า 3 ปี แต่ปัจจุบันยังมีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและคนในประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียและเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง จากรายงานพบการเกิดโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกก่อนมีอาการป่วย และเสียชีวิตในประเทศจีน โดยก่อนหน้านี้มีรายงานการพบการติดเชื้อไข้หวัดนกที่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม
ช่วงหนาวนี้ยังเป็นช่วงเวลาการอพยพหนีหนาวของนกป่าจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งช่วงนี้พบมีนกอพยพมาอยู่อาศัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างหลายแสนตัว ซึ่งอาจเป็นตัวนำเชื้อไข้หวัดนกเข้ามา และแพร่กระจายมายังสัตว์ปีกในบ้านหรือในฟาร์มของประเทศไทย พื้นที่เสี่ยงจึงเป็นจังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงเวลาใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีนช่วง เดือนมกราคม 2555 ซึ่งจะมีการค้าขาย การบริโภค และเคลื่อนย้ายไก่ เป็ด เพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัยข้างต้นดังกล่าว จึงมีความเสี่ยงสูงที่โรคไข้หวัดนกอาจจะเกิดการระบาดขึ้นได้ หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งพอ
กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จีงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้กับประชาชนป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน ป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ปีก ให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนกอย่างทั่วถึง โดยมีแนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก ในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้
1. เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ หากพบการระบาดในสัตว์ ต้องรีบแจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยทันที
2. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะต้องไม่นำสัตว์ปีกป่วยตายมาชำแหละหรือบริโภค กรณีที่พบผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดนก คือ มีไข้สูงและมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดอยู่ แนะนำให้รีบไปไปตรวจที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที
เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวย้ำเตือน วิธีป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างได้ผลสำหรับประชาชนนั้นยังคงมี 4 วิธีหลัก คือ
1) ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือน้ำ 2) แยกสัตว์ปีกออกจากคนอย่าปนกัน 3) มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติหรือสงสัยให้รีบแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน 4) อย่าเสียดายสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุให้ฝังหรือเผาเพื่อทำลายอย่างถูกวิธี
ข้อความหลัก " เลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกตาย ล้างมือ ปรุงอาหารสุก ปิดปากจมูก คือวิธีป้องกันไข้หวัดนก”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2555_01_19_BF.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น