วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เตือนผู้ประสบภัยน้ำท่วมระวังป้องกันไฟฟ้าดูดเสียชีวิต



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กล่าวว่า ในช่วงเกิดภาวะฉุกเฉินอุทกภัยพบว่า นอกจากพบการเสียชีวิตของประชาชนจากการจมน้ำแล้วสิ่งที่ควรระมัดระวังอีกเรื่องหนึ่งคือ อันตรายจากกระแสไฟฟ้าดูดหรืออาจจะถูกเรียกอีกอย่างว่าไฟช๊อต เป็นภาวะที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายมีผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็ง จนไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้ ปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกายทำให้เสียชีวิต หรือพิการ


บางคนเมื่อถูกไฟดูดจะล้มลงกับพื้นและหมดสติชั่วครู่ ซึ่งถ้าล้มหรือหมดสติในขณะอยู่ที่สูงก็อาจตกลงมากระแทก หรือในขณะที่อยู่ในน้ำก็อาจจะจมน้ำได้ เมื่อฟื้นจากอาการหมดสติก็มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ คนที่ถูกไฟฟ้าดูดเป็นเวลานานอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เช่น ศีรษะและ ทรวงอก ซึ่งจะทำให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติหรือหยุดทำงาน อีกทั้งยังเป็นแผลไหม้ตามผิวหนังและกินลึกเข้าไปไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่สัมผัสกับไฟฟ้า แผลไหม้สีเทาและไม่รู้สึกเจ็บ บาดแผลมีขนาดใหญ่ อาจเกิดความพิการจากกล้ามเนื้อมีการถูกทำลายอย่างรุนแรง บางครั้งทำให้แขนขาบวมตึงขาดเลือดรุนแรงไปเลี้ยงจนต้องเสียอวัยวะส่วนแขนขาที่ถูกไฟดูดนั้น

ถ้าไฟดูดเป็นเวลานานอาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แล้วตามด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็วและหมดสติ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ถูกไฟฟ้าแรงสูงกว่า 1000 โวลท์ดูด ซึ่งมักจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเนื่องจากกระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลผ่านหัวใจทำให้คลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หยุดทำงาน หยุดหายใจ ทำให้อันตรายถึงตายได้ทันที ดังนั้นขอให้ประชาชนและครอบครัวที่ประสบอุทกภัยควรระมัดระวังดังนี้

1) สำรวจสายไฟฟ้า ปลั๊กไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งในระดับต่ำ ต้องรีบย้ายให้สูงพ้นระดับน้ำ

2) ถ้าน้ำท่วมปลั๊กไฟฟ้าแล้ว ให้รีบตัดการจ่ายไฟ ( ปลดคัทเอาท์ ) ทันที

3) ให้ตรวจปลั๊กไฟที่แช่น้ำ เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่ว

4) หลีกเหลี่ยงการเข้าใกล้เสาเหล็กที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้า ถ้าเครื่องไฟฟ้าย้ายไม่ทันถูกน้ำท่วมแล้วควรหยุดใช้งานจนกว่าจะได้รับการตรวจสภาพเสียก่อน

5) ตรวจสอบสวิตซ์ไฟฟ้าว่ามีน้ำเข้าหรือฝนสาดหรือไม่ ถ้าเปียกน้ำอย่าแตะต้องอุปกรณ์และเครื่องไฟฟ้าใด ๆ

6) ห้ามใช้เครื่องไฟฟ้าที่ถูกโดนน้ำท่วมแล้ว ควรตรวจสอบก่อน

7) อย่าแตะสวิตซ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียกๆ

8) เมื่อก่อนน้ำท่วมในบ้านต้องตัดการจ่ายไฟทันที

9) งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดขณะเกิดน้ำท่วม

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า ผู้ที่รอดชีวิตมาได้จากการถูกไฟดูดอย่างรุนแรง ถ้าได้รักการปฐมพยาบาลและการรักษาที่เหมาะสมและทันเวลา อัตราการตายจะลดลงแต่อาจพบความพิการได้ซึ่งขึ้นกับบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนการช่วยเหลือผู้อื่นขณะเกิดเหตุไฟฟ้าดูดให้กระทำด้วยความระวัดระวัง โดยที่ไม่โดนไฟฟ้าดูดไปด้วย ดังนี้

1) เมื่อพบคนถูกไฟฟ้าดูด จะต้องตัดการจ่ายไฟทันที (สับคัทเอาท์หรือเต้าเสียบ) เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าก่อนจะเข้าไปช่วยเหลือ 2) หากไม่สามารถสับสะพานไฟลงได้ ห้ามใช้มือไปจับต้องคนที่กำลังถูกไฟดูด 3) ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น ร่างกายต้องไม่เปียกน้ำและสวมรองเท้า และต้องไม่สัมผัสผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูดโดยตรง 4) ยืนในที่แห้งและใช้ไม้แห้งหรือฉนวนไฟฟ้าเขี่ยอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พ้นจากผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูด หรือใช้ผ้าแห้ง/เชือกดึงผู้ป่วยออกจากจุดที่เกิดเหตุโดยเร็ว 5) เมื่อช่วยผู้ถูกไฟฟ้าดูดหลุดออกมาแล้ว ให้รีบปฐมพยาบาล ถ้าหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ ให้นวดหัวใจ 6) รีบนำตัวผู้ประสบไฟฟ้าดูดส่งโรงพยาบาลทันที หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669

ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ”

กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_08_27_Elec.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น