เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเจริญทางด้านพุทธศาสนามาช้านาน พระพุทธเจ้าได้ให้พระคำสอนว่า "น้ำเมา" เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ขาดสติ สัมปัญชัญญะ แต่คนไทยก็ดื่มแอลกฮอล์กันทุกเทศกาลไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ ขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด งานแต่งงาน งานเลี้ยงรื่นเริงต่างๆ แม้แต่งานศพ แต่ไม่ว่าจะออกกฏหมายมาควบคุม การจำหน่ายและการโฆษณา หรือขึ้นภาษีนำเข้าสุราต่างประเทศหรือในประเทศ คนที่ดื่มก็ยังสามารถซื้อได้แบบตัดสินใจไม่ยากนัก จนขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ดื่มสุราติดเป็นอันดับ 5 ของโลก
การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา มีผลกระทบต่อสมองส่วนควบคุมสติปัญญา การตัดสินใจและควบคุมความฉับไวในการปฏิบัติการช่วงกะทันหัน การดื่มเหล้ามีผลต่อการขับขี่โดยตรง ทำให้การมองเห็นแคบลง การรับรู้ต่อความเคลื่อนไหวรอบตัวน้อยลง การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง ในเวลาคับขันจึงอาจแตะเบรกและหักหลบได้ช้ากว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นผลให้ในแต่ละปีมีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินจากสาเหตุเมาแล้วขับเป็นจำนวนมาก อุบัติเหตุจราจรมากกว่าครึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า จากการศึกษาพบว่าการดื่มเหล้าผสม 1 แก้วหรือเบียร์ครึ่งขวดใหญ่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเป็น 2 เท่า แต่ถ้าดื่มเหล้าผสม 4 แก้วหรือเบียร์ 2 ขวด จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นเป็น 7 เท่า
หากดื่มในปริมาณมากจะก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ความรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ความรุนแรง ข่มขืน อาชญากรรมและโรคเรื้อรัง ฯลฯ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่มโดยตรง ทำให้สมองสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิดอ่าน ฝ่อก่อนวัย ส่งผลให้มีความจำไม่ดี เกิดอาการซึมเศร้า สับสน บางรายอาจจะทำให้เกิดโรคจิต ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาอีกจำนวนมาก เช่น ร้อยละ 10-35 ของผู้ดื่มสุรามากจะเป็นโรคตับอักเสบ อีกร้อยละ 10-20 จะเป็นโรคตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับ หรือมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งปาก ปอด ตับอ่อน หลายรายมีอาการท้องเสียและริดสีดวงทวาร เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้องเป็นประจำ เลือดออกทางเดินอาหาร และอาจกลายเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารในที่สุด
ผู้ที่ดื่มสุรานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบ คันปริเวณผิวหนัง เมื่อสูงอายุไปมักจะมีโรคประจำตัวและต้องใช้หลายชนิด และยังส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดสมองแตก เป็นอัมพฤติอัมพาตตามมา การดื่มสุราเป็นปริมาณน้อยหรือไม่ดื่มเลยจะทำให้ลดอัตราการตายจากโรคต่างๆ ลง ส่วนผู้ที่ดื่มสุราจนติดเรื้อรัง จะมีอายุเฉลี่ยสั้นลงราว 10-14 ปี หากผู้ดื่มสุราเป็นผู้หญิง สมองจะมีขนาดเล็กกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม แถมจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้ไม่ดื่ม ผู้หญิงที่ดื่มจะเป็นโรคตับอักเสบได้เร็ว/ตายจากโรคตับแข็ง และมักเป็นตอนอายุน้อย ผลของสุราอาจจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์และยังมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วย และเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงต่อครอบครัว และบุคคลอื่น ๆ พร้อมทั้งปัญหาอาชญากรรม มีรายงานว่าผู้หญิงที่ดื่มสุรามักจะเป็นเหยื่อของความรุนแรง เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกข่มขืน
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษามงคลฤกษ์ดีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะได้ย้ำเตือนให้ไตร่ตรอง ทบทวน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยควรได้แสดงพลังศรัทธาทางศาสนาอันแรงกล้าสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตระหนักถึงโทษและสารพัดพิษภัยที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หันมาส่งเสริมสุขภาวะของตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง สู่สังคมสุขภาพดี ปลอดโรค แข็งแรง “ สะสมทรัพย์ อิ่มบุญ เข้าพรรษา ฤดูเลิกเหล้าแห่งชาติ “ นำมาซึ่งสุขภาวะทั้งทางร่างกายและสุขสงบทางจิตใจ ความเจริญก้าวหน้ามาสู่ทุกท่านตลอดไป
ข้อความหลัก " เลิกสุราวันนี้ พาชีวีเป็นสุข ”
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/print/2554_08_02_alco.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น