กรมควบคุมโรค ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย–สหรัฐ ด้านสาธารณสุข สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายที่ทำงานด้านเอดส์ เดินหน้าต่อยอดผลงาน 4 โรงพยาบาลนำร่องศูนย์การเรียนรู้การดูแลเด็กติดเชื้อเอชไอวีแบบองค์รวม หลังพบปี 2553 มีเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีรับบริการอยู่ในเครือข่ายแล้วเกือบ 5,000 ราย พร้อมตั้งเป้าภายในปี 2555 ขยายเครือข่ายการดูแลเด็กติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศ
วันนี้ (9 สิงหาคม 2554) โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตันฯ กรุงเทพฯ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2551 พบว่ามีเด็กติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 9,000 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่ในระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมากกว่า 200,000 ราย โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับบริการในโรงพยาบาลกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ส่วนผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่รับบริการอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีกุมารแพทย์ประจำ สำหรับการพัฒนาคุณภาพบริการด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยกรมควบคุมโรค ร่วมมือกับศูนย์ความร่วมมือไทย–สหรัฐด้านสาธารณสุข (ศรทส.) และ AIDS Institute of New York State, USA และได้พัฒนารูปแบบการพัฒนาคุณภาพบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่เรียกว่า HIVQUAL-T ซึ่งเป็นรูปแบบพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในคลินิก
ส่วนการนำร่องการพัฒนาคุณภาพบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในเด็ก เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2547 ในโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงราย ซึ่งใช้วิธีการดูแลเด็กแบบองค์รวมทั้งด้านสุขภาพ การเจริญเติบโต พัฒนาการ รวมถึงด้านสังคมจิตใจของทั้งเด็กและครอบครัว โดยการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัด ศูนย์องค์รวมอาสามัครผู้มีเชื้อเอชไอวี และองค์การพัฒนาเอกชน (NGO) จากนั้น ปี พ.ศ.2549 ได้ขยายงานไปทดลองใช้รูปแบบเดียวกันนี้ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอุดรธานี และเริ่มมีการขยายพื้นที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขยายงานครอบคลุมทั่วประเทศอย่างมีคุณภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้นจึงได้สร้างเครือข่ายโรงพยาบาลศูนย์การเรียนรู้การดูแลเด็กติดเชื้อเอชไอวีแบบองค์รวมขึ้นใน 4 ภาคของประเทศ ประกอบด้วย 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี โดยทั้ง 4 โรงพยาบาลนำร่องศูนย์การเรียนรู้นี้ มีการฝึกอบรมโรงพยาบาลที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันให้มีการดูแลเด็กแบบองค์รวมเช่นเดียวกัน ตั้งแต่การติดตามประเมินภาวะสุขภาพอย่างใกล้ชิด ให้ยาต้านไวรัสเมื่อถึงเกณฑ์ การป้องกันรักษาโรคฉวยโอกาสอื่นๆ เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ ติดตามการเจริญเติบโตพัฒนาการ เป็นต้น ซึ่งมีจังหวัดที่ร่วมในเครือข่ายแล้ว 30 จังหวัดกระจายอยู่ในพื้นที่มีจำนวนเด็กมีเชื้อเอชไอวีรับบริการจำนวนมาก จนถึงปี 2553 มีเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีรับบริการอยู่ในเครือข่ายแล้วเกือบ 5,000 ราย(4,821 ราย) เด็กในเครือข่ายได้รับบริการตามมาตรฐาน เช่น ร้อยละ 90 มารับการติดตามรักษาตามนัด มากกว่าร้อยละ 90 ได้ตรวจติดตามสถานะภูมิคุ้มกันทุก 6 เดือน ได้กินยาต้านไวรัสตามเกณฑ์ ได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อปอดอักเสบ และในเด็กที่เริ่มเข้าวัยรุ่นได้รับการสอนเรื่องเพศศึกษา เป็นต้น
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การสัมมนาวิชาการ การพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ เอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ระดับประเทศ ครั้งที่ 3 ได้มอบกิตติกรรมประกาศศูนย์การเรียนรู้ให้แก่โรงพยาบาล นำร่องศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 4 แห่งนี้ด้วย เพื่อให้เป็นแบบอย่างและเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ นอกจากนี้ เป้าหมายในการขยายรูปแบบการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพบริการการดูแลรักษาเด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ให้คลอบคลุมทั่วประเทศภายในปี พ.ศ.2555 โดยงบประมาณจากสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เด็กได้รับบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของประเทศไทย ที่สำคัญเพื่อลดอัตราการขาดนัด การกินยาไม่สม่ำเสมอ ลดอัตราการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ลดอัตราการเกิดเชื้อดื้อยา และลดอัตราการเสียชีวิตในระยะยาว ต่อไป
แหล่งข่าวโดย...กลุ่มประชาสัมพันธ์และข่าว สนง.เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรม คร.
ข้อความหลัก " ไม่ใช้เข็มร่วมกัน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง หยุดยั้งโรคเอดส์ "
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://www.ddc.moph.go.th/pnews/showimgdetil.php?id=322
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น