กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือและอีสาน เตรียมพร้อมรับมือใน 3 ระยะ ระวังปัญหาการจมน้ำและโรคติดต่อระบาด พร้อมแนะนำผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม ควรล้างเท้าหลังย่ำน้ำและผู้ที่มีบาดแผลไม่ควรสัมผัสน้ำท่วมขัง หากจำเป็นต้องย่ำน้ำควรปิดแผลให้สนิทและสวมรองเท้าบู๊ท รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
วันนี้ (2 สิงหาคม 2554) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม ซึ่งสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของประชาชนจะเปลี่ยนไป อันจะนำมาสู่การเกิดโรคติดต่อระบาดและภัยสุขภาพได้ จะเห็นได้จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค(รง 506) ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ป(พ.ศ.2548-2552) พบว่า โรคเลปโตสไปโรซิส(โรคฉี่หนู) และโรคตาแดง ค่อนข้างมีความสัมพันธ์กับการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเวลาของการเกิดอุทกภัย ซึ่งการเกิดโรคในประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีอัตราที่สูงกว่าปกติ อาจมีผลจากหลายปัจจัย เช่น การอยู่ร่วมกันของประชาชนที่อพยพเคลื่อนย้ายเพื่อหลบภัยจำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดทั้งเรื่องสถานที่พักพิง การจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านอาหารและน้ำสะอาด การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อ กรมควบคุมโรคขอแนะนำให้ประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเตรียมพร้อมรับมือใน 3 ระยะ คือ 1.ระยะน้ำไหลบ่าหรือน้ำท่วมระยะแรก ให้ระวังปัญหาการจมน้ำ การถูกไฟดูด ไฟช็อต สัตว์มีพิษกัด และบาดแผลติดเชื้อ 2.ระยะน้ำท่วมขัง ให้ระมัดวังโรค เช่น ตาแดง น้ำกัดเท้า อุจจาระร่วง 3.ระยะน้ำเริ่มลดและน้ำลดแล้ว โรคติดต่อที่สำคัญก็ยังคงเป็นโรคเลปโตสไปโรซิสหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบ นอกจากโรคต่างๆ ข้างต้นแล้ว ในช่วงที่ฝนตกเกือบตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดความชื้นในอากาศ อาจเป็นสาเหตุของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวมหรือโรคปอดอักเสบ ซึ่งต้องระมัดระวังในเด็ก โดยเน้นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยและมีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้ หากพบเด็กมีอาการซึมเศร้า ไม่กินน้ำไม่กินนม มีอาการไข้สูง ไอ หายใจหอบเร็ว หายใจมีเสียงฮืดหรือเสียงหวีด หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาการจมน้ำในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการประกอบอาชีพ เช่น การหาปลา เก็บผัก เป็นต้น ประชาชนจึงควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม ซึ่งอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายสุดคือแกลลอนเปล่าที่ปิดฝาสนิท อาจจะผูกติดกันสองแกลลอนเพื่อให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น ส่วนในเด็กควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำแม้น้ำจะตื้น ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สำหรับการปฏิบัติเพื่อปลอดภัยจากโรคต่างๆ ประชาชนต้องป้องกันการสัมผัสกับน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำเป็นเวลานานและควรล้างเท้าหลังย่ำน้ำ หรือหากจำเป็นควรใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ได้แก่ รองเท้าบู๊ต ป้องกันการสัมผัสน้ำสกปรก ในภาวะน้ำขังอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแมลงวัน ควรกำจัดและลดแหล่งเพาะพันธุ์ โดยเก็บขยะเปียกใส่ถุงรัดปากถุงให้มิดชิด ดูแลสุขาภิบาลเรื่องอาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง และมีอาการตาแดง ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เพื่อให้การดูแลรักษาโดยเร็ว พร้อมทั้งแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่ามีการย่ำน้ำลุยโคลนที่มีน้ำขัง หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333
แหล่งข่าวโดย...กลุ่มประชาสัมพันธ์และข่าว สนง.เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรม คร.
ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม "
กรมควบคุมโรค ห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
ที่มา http://www.ddc.moph.go.th/pnews/showimgdetil.php?id=312
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น