วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สคร.9 แนะประชาชนเคร่ง “ สี่สอ “ ช่วงฝนตกหนักจะปลอดจากโรคที่มากับน้ำท่วม



เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงฤดูฝนนี้บางพื้นที่อาจประสบปัญหามีฝนตกหนัก ติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันอาคารบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม เพราะไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน เช่น ในเขตชุมชนต่าง ๆ หลายแห่ง ในเขตภาคเหนือตอนล่างและพื้นที่ใกล้เคียง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิดซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่จะเกิดในฤดูฝน 5 กลุ่มโรค ดังนี้

1. โรคที่เกิดจากแมลงพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี
2. โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ ที่ขึ้นเองในป่า สวน ไร่ หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือพืชที่มีพิษต่างๆ เช่น ผักหวานพิษ ที่มักมีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นประจำทุกปีช่วงหน้าฝน
3. โรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ที่พบบ่อย เช่น โรคหวัดหวัดใหญ่ โรคคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก
4. โรคที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมและสัตว์พาหะ เช่น โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู ที่เชื้อปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก ที่ชื่นแฉะมีน้ำท่วมขัง
5. โรคหรือภัยที่มักเกิดร่วมกับภาวะอุทกภัย เช่น โรคทางอาหารโดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำท่วม ได้แก่ โรคท้องเดินหรือโรคอุจาระร่วง โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น โรคตาแดง ที่ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาด โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากเชื้อรา ที่ต้องลุยอยู่ในน้ำสกปรกนาน ๆ อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านช่วงที่มีน้ำท่วม อันตรายจากการจมน้ำ และไฟฟ้าดูดขณะร่างกายเปียกน้ำ

ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังการดูแลสุขอนามัยมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากมีโอกาสเกิดโรคและภัยสุขภาพหลายอย่าง กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำวิธี “ สี่สอ ป้องกันโรคและภัยจากน้ำท่วม” ดังนี้

ส. ที่หนึ่ง ดื่มน้ำกินอาหารที่สุกสะอาด
ส. ที่สอง รักษาร่างกาย มือเท้าให้สะอาด และอบอุ่น ไม่ขยี้ตาเมื่อมีฝุ่นหรือน้ำสกปรกเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรลงแช่น้ำที่ท่วมขัง หากจำเป็นต้องรีบล้างตัวให้สะอาดโดยเร็ว
ส. ที่สาม ระวังสัตว์มีพิษ ที่อาจหลบหนีเข้ามาในที่พักอาศัย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ
ส.ที่สี่ สิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสุขาภิบาลรอบตัวเรา เน้นการกำจัดขยะ ถ่ายอุจจาระลงถุง ตัดวงจรไฟฟ้าภายในบ้าน อย่าใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูงเพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วได้ และให้ระวังการจมน้ำ

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่า แต่หากตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่ม ก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น และขอให้ประชาชนเคร่งครัดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ ทั้งนี้หน่วยงานได้อำนวยความสะดวกให้หน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดาวโหลดสื่อต้นแบบการป้องโรคและภัยจากน้ำท่วม เพื่อให้นำไปผลิตสื่อซ้ำใช้แจกจ่ายประชาชนในท้องถิ่นและชุมชนตนได้เอง ที่เว็บไซต์http://www.ddc.moph.go.th/emg/flood/alladvice.phpหรือทางเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์เฟสบุ๊กที่http://www.facebook.com/dpc9news หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ โทรศัพท์ 1422

ข้อความหลัก “ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคจากฤดูฝนได้ “

ฟังเพลงรณรงค์โรคจากฤดูฝนทีhttps://soundcloud.com/prdpc9/cbo7hzkfwyra

Download ประกาศกรมควบคุมโรค เตือนภัยโรคจากฤดูฝนที่http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/tranfers/guideline/2556/2556_06_06_rain.pdf

ดู Clip VDO คำแนะนำป้องกันโรคที่มาจากน้ำท่วมที่http://www.youtube.com/watch?v=fYcJFCanB5Y&feature=share&list=FLjDz8iLfwnqvbZAKinmemhg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง “สคร.9 เตือนน้ำหลาก ประชาชนควรเน้นย้ำสิบบัญญัติสกัดโรคที่มากับน้ำท่วม “ ที่https://www.facebook.com/media/set/?set=a.492325610856343.1073741951.162933320462242&type=1 




 
ข่าวนี้สนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมควบคุมโรค : การสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและได้ผล เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

รายละเอียดภาพข่าวนี้ทั้งหมด https://www.facebook.com/media/set/?set=a.493130610775843.1073741952.162933320462242&type=1

          

จิดาภา รอดอยู่ / เผยแพร่
เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ/ ตรวจทาน
โดย…กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมควบคุมโรค รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้
โทร 0-5521-4615 -7 ต่อ 333 หรือ 334 โทรสาร 0-5532-1238
Email : dpc9phs@yahoo.com
ดูข่าวสุขภาพใหม่ ๆ ตลอดเวลาได้ที่ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น